เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) วาระพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2561 ที่กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง แบ่งเป็นระดับก่อนประถมศึกษา 30 คนต่อห้อง ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้อง ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าในปีการศึกษา 2561 การรับนักเรียนชั้นม.1 ให้ยึดตามหลักเกณฑ์ 40 คนต่อห้อง
ส่วนช่วงรอยต่อที่นักเรียนชั้นม.3 จะขึ้นม.4 ในโรงเรียนเดิม ซึ่งมีปัญหานักเรียนจะถูกคัดออกจำนวนมากนั้น ที่ประชุมจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีเหตุผลและความจำเป็นไม่ปฏิบัติตามนโยบาย 40 คนต่อห้องเรียนได้ แต่ต้องทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขอขยายห้องเรียน หรือเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละสถานศึกษา จากนั้นให้ไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการรับนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่โรงเรียนนั้นๆ สังกัดอยู่
“การยืดหยุ่นดังกล่าวให้รวมไปถึงโรงเรียนทั่วไปด้วย ไม่เฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เนื่องจากหากเด็กล้นจากโรงเรียนแข่งขันสูงจำเป็นต้องไปอยู่โรงเรียนใกล้เคียง ซึ่งถ้าเด็กไปเป็นจำนวนมากจนเกินห้องละ 40 คน ก็ปฏิบัติตามระเบียบไม่ได้อีก ฉะนั้นจึงให้ปรับแผนรองรับไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมย้ำว่าการรับนักเรียนต้องคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยในห้องเรียนด้วย ดังนั้นแต่ละห้องเมื่อขยายแล้วต้องไม่เกิน 50 คน สำหรับปีการศึกษา 2562 และ 2563 ที่ยังมีนักเรียนม.ต้นค้างท่อ จะหารือกันอีกครั้ง แต่หากจำเป็นต้องยืดหยุ่นจนเด็กรุ่นนี้จบม.ต้น ก็จะสามารถยืดหยุ่นได้ถึงปีการศึกษา 2563 ส่วนปีการศึกษา 2564 ปัญหานี้จะไม่มีอีก เพราะนักเรียนที่เข้าเรียนม.1 ในปีการศึกษา 2561 จะล็อกจำนวนอยู่ที่ 40 คนต่อห้องอยู่แล้ว” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายบุญรักษ์ กล่าวด้วยว่า มตินี้เป็นการแก้ปัญหาช่วงรอยต่อเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในอนาคตการลดจำนวนนักเรียนลงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เกิดคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน และสิ่งที่ดำเนินการหลังจากนี้อีก 2 เรื่อง คือ การวางแมปปิง (Mapping) เพิ่มจำนวนโรงเรียนเนื่องจากการขยายตัวของเมืองทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น การเดินทางสะดวกสบาย ซึ่งต้องวางแผนรองรับโดยอาจจะตั้งโรงเรียนเพิ่ม หรือขยายอาคารเรียน หรือเพิ่มห้องเรียนในโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ กพฐ.ยังเสนอให้เร่งดำเนินการทำโรงเรียนคู่พัฒนาโดยให้โรงเรียนแข่งขันสูง 282 โรง ไปจับคู่โรงเรียนใกล้เคียงในการพัฒนาคุณภาพควบคู่กัน โดยให้เริ่มดำเนินการทันที