โพสต์โดย : Admin เมื่อ 26 มิ.ย. 2562 04:37:37 น. เข้าชม 166428 ครั้ง
อบรมทักษะดิจิตอลครู นักเรียน ฝึกเขียนโค้ด ภาษาที่ 3 แห่งอนาคต – เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการแรงงานของตลาดในอนาคตโดยเฉพาะในกลุ่มงานด้านดิจิตอล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิตอลแก่อาจารย์จำนวน 500 คน จาก 500 โรงเรียน ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งเป้าต่อยอดองค์ความรู้จากอาจารย์สู่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 50,000 คน โดยมีโรงเรียนเมืองพัทยา 7 (หนองพังแค) เป็นโรงเรียนต้นแบบ
โครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิตอล ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ ASEAN Digital Innovationโครงการระดับภูมิภาคของไมโครซอฟท์ที่จัดขึ้นใน 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะเยาวชนผ่านบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้หลักสูตรการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษผ่านเว็บไซต์ Future Ready ASEAN จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน
ไมโครซอฟท์ยังร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในโครงการอบรมทักษะเชิงดิจิตอลแก่เยาวชน โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ซึ่งมีประสบการณ์สอนการเขียนโค้ดมากว่า 30 ปี มีบทบาทสนับสนุนวิทยากรในการสอนเพื่อฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิตอลแก่อาจารย์ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษา 10 รุ่น และอาจารย์ที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา 10 รุ่น จำนวนทั้งหมดกว่า 500 คน จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
หลักสูตรที่นำมาสอนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดผ่าน Minecraft และ MakeCode ของไมโครซอฟท์ ไปจนถึงการเรียนรู้ภาษาไพทอน (Python) และการเขียนด้วยภาษา HTML5 และ CSS เพื่อสร้างเว็บไซต์ โดยวิทยากรในการสอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เป็นผู้พิการทั้งหมด
น.ส.โสภิตา จันทรส วิทยากรผู้สอนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า ทักษะดิจิตอลช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของเด็กๆ ได้ ส่วนหน้าที่หลักของครูคือทำอย่างไรให้พวกเขาหันมาสนใจเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น ดิฉันจะเน้นวิธีการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุก เช่น การสอนเขียนโค้ดผ่านเกม รวมถึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าทักษะเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว
อย่างเช่นการสอนเขียนโค้ดเพื่อเขียนตัวอักษรบนป้ายไฟ เชื่อว่าเมื่อเด็กๆ สั่งสมทักษะและเก็บเกี่ยวความรู้เหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่เด็ก จะทำให้พวกเขาได้รับโอกาสที่ดีกว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้น เพราะการเรียนรู้ทักษะดิจิตอลเหล่านี้เปรียบเสมือนการรู้ภาษาที่สามของยุคอนาคต
โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) เป็นโรงเรียนต้นแบบของโครงการดังกล่าว โดยนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกจากทางโรงเรียนจะได้รับการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิตอลแบบเข้มข้นและใกล้ชิดจากวิทยากรผู้สอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามนโยบายภาครัฐ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไปจนถึงสิ้นปี 2562
ด.ญ.ถมทอง กิจวิสาละ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) กล่าวว่า “หนูเพิ่งมีโอกาสเรียนเขียนโค้ดเป็นครั้งแรก รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนเคยบอกไว้ พอได้เรียนการเขียนโค้ดเพื่อเขียนตัวอักษรบนป้ายไฟก็รู้สึกว่าสนุก และทำให้หนูภูมิใจเวลาที่เขียนโค้ดสำเร็จ ที่สำคัญคือการเรียนเขียนโค้ดมีประโยชน์ช่วยให้หนูฝึกจัดลำดับความคิดว่าต้องการอะไร และจะต้องออกแบบคำสั่งอย่างไร
หนูสามารถนำทักษะนี้ไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เพียงการเรียนรู้เทคโนโลยีเท่านั้น ที่จริงแล้วหนูชอบเรียนศิลปะและมีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นสถาปนิก ทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบที่ได้จากการเรียนเขียนโค้ดจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพสถาปนิกได้เช่นกัน”