โพสต์โดย : Admin เมื่อ 29 มิ.ย. 2560 08:45:29 น. เข้าชม 166410 ครั้ง
แนะไทยลงทุนการศึกษา วิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ ชี้ 5ปีแรกไทยต้องปลดล๊อคความเหลื่อมล้ำให้ได้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันลดปัญหาแป๊ะเจี้ยะได้
ดร.ดิลกะ ลัทธิพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้สูงขึ้นต่อเนื่องไม่มีประเทศไหนที่ไม่ลงทุนเรื่องของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องลงทุนทั้งเรื่องการศึกษา วิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันไป เพื่อแรงงานไทยจะได้มีทักษะและศักยภาพสูงขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ไทยมีปัญหาทรัพยากรทางการศึกษาที่เหลื่อมล้ำกันสูงมาก ทั้งขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน ขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งวิกฤติมาก ดังนั้นหากต้องการปลดล็อค เพื่อแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย ขอเสนอให้จัดสรรโครงสร้างโรงเรียนขนาดเล็กใหม่
โดยการยุบควบรวมโรงเรียนในระยะใกล้กันเพื่อจัดสรรทรัพยากรใหม่ ซึ่งจะช่วยให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนมากขึ้น มีครูครบชั้นและครบวิชา น่าจะเป็นทางออกที่ดีและทำได้ง่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการศึกษาของประเทศด้วย
ด้าน ดร.ไกรยศ ภัทราวาส ผู้ช่วยผู้จัดการด้านการวิจัยและนโยบาย สสค.กล่าวว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาคอขวด มีอัตราสัดส่วนประชากรที่มีทักษะขั้นสูงไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าไทยจะบรรลุเป้าหมายไทยแลนด์4.0 ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 20 ข้างหน้า ไม่สามารถปล่อยให้ประชากรแม้แต่คนเดียวเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพไม่ได้
โดยเฉพาะเด็กกลุ่มช้างเผือกที่สังคมและโรงเรียนต้องบ่มเพาะให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถเอาชนะอุปสรรคทางเศรษฐกิจและสังคมได้ โดย5ปีแรกไทยต้องตั้งเป้าปลดล๊อคความเหลื่อมล้ำให้ได้ โดยทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันให้ได้ แล้วปัญหาแป๊ะเจี้ยะก็จะหมดไป
เพราะผู้ปกครองไม่ต้องแย่งให้ลูกเรียนโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลเองก็กำลังพิจารณาให้มีกองทุนการศึกษา เพื่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เชื่อว่าจะทำให้เด็กยากจนช้างเผือกมีโอกาสได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพอย่างแท้จริง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก คมชัดลึก วันที่ 28 มิถุนายน 2560
อ่านต่อได้ที่ : http://www.kroobannok.com/82316