โพสต์โดย : Admin เมื่อ 9 พ.ย. 2563 14:14:01 น. เข้าชม 166420 ครั้ง
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ได้ไปร่วมประชุมเพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวกับการปรับระบบการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ปัญหาของหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการครูและผู้บริหารโรงเรียน
ทั้งนี้จากการประชุมดังกล่าวเห็นว่า รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีความเข้าใจในปัญหาด้านการศึกษาและการบริหารบุคคลอย่างยิ่ง การแก้ปัญหานั้นท่านมิได้มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะด้านแต่เน้นในเรื่องการแก้ปัญหาทั้งระบบ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และแนวทางในการแก้ไขปัญหามีรากฐานมาจากงานวิจัยและการรับฟังผู้มีส่วนได้เสีย มีแนวคิดในเรื่องการบริหารงานบุคคลที่จะต้องเชื่อมโยงไปสู่คุณภาพผู้เรียนซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดของระบบการศึกษา จึงเชื่อว่า ก.ค.ศ.ยุคใหม่นี้จะเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างแท้จริงและยังเป็นเรื่องใหม่ที่ ก.ค.ศ.ใส่ใจคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง
สำหรับในเรื่องของการประเมินวิทยะฐานะแนวใหม่นั้นเน้นในเรื่องกระบวนการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิที่ผู้รับการประเมินให้คำมั่นสัญญาต่อสถานศึกษาและองค์กรผู้ประเมิน ลดความซ้ำซ้อนของการประเมินในเรื่องต่างๆ การประเมินต้องเห็นหน้างานในการปฏิบัติของครู ไม่ต้องให้มีการส่งเอกสาร หากมีความจำเป็นต้องส่งก็จะให้ส่งเป็นไฟล์ข้อมูล การทำ PLC นั้นควรเป็นการดำเนินการของผู้บริหารโรงเรียน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกันดังนั้นจึงได้มีการเสนอแนะให้เกณฑ์และตัวชี้วัดการประเมินสามารถปรับได้ให้สอดคล้องกับเขตพื้นที่การศึกษา สำหรับตัวชี้วัดการประเมินของครูและผู้บริหารโรงเรียนนั้นควรเป็นตัวชี้วัดที่เกื้อหนุนกัน
เลขาธิการ ก.ค.ศ.ยังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นแนวคิดการประเมินที่เป็นไปตามสภาพจริง อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ร่วมกันคิดครั้งนี้ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องช่วยกันคิดและแก้ไขต่อไป
นายรัชชัยย์ฯยังได้เปิดเผยอีกว่าตนได้เสนอแนะที่ประชุมให้พิจารณาเรื่องเกณฑ์การย้ายผู้บริหารโรงเรียนที่มีปัญหาบางประเด็นดังนี้
๑. ในเรื่องการให้คะแนนวิสัยทัศน์และคะแนนแนวคิดในการบริหารสถานศึกษา นั้นสมควรให้มีการยกเลิกเพราะเป็นคะแนนที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ยื่นคำร้องขอย้ายเขียนเองหรือมีผู้อื่นทำให้ การให้คะแนนไม่มีหลักเกณฑ์ที่สามารถตอบคำถามได้ว่าคะแนนกับเกณฑ์ไปกันได้หรือไม่ ส่งผลให้บางจังหวัดมีการเรียกรับผลประโยชน์โดยอาศัยการให้คะแนนวิสัยทัศน์และคะแนนแนวคิดในการบริหารสถานศึกษา อย่างไรก็ตามหากเห็นว่ายังมีความจำเป็นจริงๆก็ควรพิจารณาเสียใหม่ว่าใครควรเป็นผู้ให้คะแนนวิสัยทัศน์ เพราะการให้อำนาจ อ.ก.ศ.จ.เป็นผู้ใช้อำนาจนี้มีปัญหาเรื่องผู้ใช้อำนาจไม่รู้จักผู้นำเสนอวิสัยทัศน์จึงไม่มีทางทราบว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้หรือไม่
๒. ควรให้โอกาส ผอ.สพม. หรือ ผอ สพป. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ยื่นคำร้องขอย้ายได้มีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็นหรือมีส่วนในการประเมินผู้ขอย้าย
๓. สำหรับหลักเกณฑ์การย้ายในปัจจุบันที่มีปัญหาเรื่องการไม่สามารถย้ายข้ามขนาดได้โดยอาจส่งผลให้ผู้บรรจุใหม่จะได้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ นั้นเห็นว่าหากมีเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งให้มีการไต่ประสบการณ์ตามขนาดของโรงเรียน และมุ่งให้ผู้มีประสบการณ์ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งในโรงเรียนที่มีขนาดโรงเรียนใหญ่ขึ้น ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ ก.ค.ศ.ได้เร่งแก้ปัญหาที่สำคัญครั้งนี้ด้วย และหาก กศจ.ใดมีปัญหาเช่นนี้ก็ขอให้ กศจ.นั้นๆหารือ ก.ค.ศ.เป็นกรณีไป
นอกจากนี้เกี่ยวกับกรณีการเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ ว.๑๓ นั้น นายรัชชัยย์ฯมีความเห็นเพิ่มเติมว่า “ก.ค.ศ.ควรรีบประกาศให้ผู้ยื่นเรื่องขอให้ทบทวนการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ ว.๑๓ ผ่านทุกรายโดยเร็วเพราะรางวัลที่ทุกท่านเหล่านั้นได้รับล้วนเป็นรางวัลที่เคยพิจารณาแล้วว่าผ่านเกณฑ์ การพิจารณาลดคุณค่าของรางวัลลงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ชอบด้วยความถูกต้องและอาจจะขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย การประกาศผลล่าช้าจะทำให้ผู้ที่เกษียณหรือจะเกษียณอายุราชการล้วนเสียหาย และในระหว่างที่เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะแนวใหม่นี้ยังเป็นเพียงแนวคิดก็ขอให้นำหลักเกณฑ์ ว.๑๓ มาใช้อีกช่องทางหนึ่งไปพลางก่อนเพื่อเป็นการรักษาสิทธิของผู้ที่ได้รับรางวัลระดับชาติและเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้คุณครูและผู้บริหารโรงเรียนและยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการแข่งขันการสร้างและพัฒนาผู้เรียนต่อไป” นายรัชชัยย์ฯกล่าวในที่สุด