โพสต์โดย : Admin เมื่อ 23 เม.ย. 2561 09:14:16 น. เข้าชม 166437 ครั้ง
ตามที่โรงเรียนเอกชนกลุ่มต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การรับนักเรียน นักศึกษาประจำปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนเอกชนซึ่งมีแนวโน้มจะมีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบให้โรงเรียนเอกชนบางกลุ่มได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนขนาดกลาง หรือขนาดเล็กที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เนื่องจากผู้ปกครองหันส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนรัฐแทน เพราะมองว่ามีค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าโรงเรียนเอกชนนั้น
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ดร.พะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยังไม่มีข้อมูลโรงเรียนเอกชนที่จะปิดกิจการแต่อย่างใด หลายโรงเรียนยังคงเป็นโรงเรียนยอดฮิตที่ได้มีการเปิดรับนักเรียน และมียอดผู้สมัครจนล้น ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ยังคงเปิดรับนักเรียนอยู่
ดังนั้น สช. ยังสรุปอะไรไม่ได้ว่าโรงเรียนเอกชนมียอดรับเด็กลดลงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก่อนหน้านี้ตนได้มอบนโยบายให้โรงเรียนเอกชนมุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานเป็นสำคัญ และที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนก็ทำเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดีมากๆ โดยจะเห็นได้จากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตในแต่ละครั้ง โรงเรียนเอกชนจะมีผลการทดสอบในระดับที่ดีกว่าโรงเรียนในสังกัดอื่นๆอย่างชัดเจน
และด้วยเหตุนี้เองภาครัฐจึงเห็นความสำคัญที่จะสนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐลงทุนน้อยแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับคุ้มค่าและเป็นที่น่าพึงพอใจมาก
“สช.เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนในขณะนี้ดีว่ามีปัจจัยหลายๆอย่างที่อาจจะมีผลต่อจำนวนตัวเลขของผู้สมัครเข้าเรียน แต่หากเรายึดคุณภาพมาตรฐานที่ดีเป็นสำคัญ ผู้ปกครองย่อมเกิดความมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนอย่างแน่นอน” เลขาธิการ กช. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในอีกช่องทางหนึ่ง ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ผ่านมา
ซึ่งมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน สช.ได้มีการเสนอให้ปรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียนเอกชน 100% เท่ากับโรงเรียนของรัฐ ซึ่งที่ประชุม กช.ก็ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว และให้ สช.ไปจัดทำรายละเอียดมานำเสนออีกครั้ง ซึ่งหากรัฐให้การสนับสนุนเรื่องนี้ในที่สุดก็เชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงเรียนเอกชนได้มาก.
ขอบคุณที่มา : ไทยรัฐออนไลน์