โพสต์โดย : Admin เมื่อ 25 เม.ย. 2564 02:27:11 น. เข้าชม 166489 ครั้ง
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางพัฒนาระบบเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก โดยให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวใช้บัตรประชาชนยื่นใช้สิทธิที่สถานพยาบาลของทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมานั้น กรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่า ผู้มีสิทธิและบุคคล ในครอบครัวจำนวน 24 ราย มีพฤติกรรมใช้สิทธิระบบเบิกจ่ายตรงผิดปกติ โดยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลหลายแห่งระยะเวลาใกล้เคียงกัน หรือมีการเข้ารับบริการเกิน 3 สถานพยาบาลต่อเดือนด้วยโรคเดียวกัน อีกทั้งได้รับยาประเภทเดียวกัน จนมีปริมาณยาสะสมจำนวนมาก คิดเป็นเงินจำนวน 15,808,631.70 บาท ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ระงับสิทธิของบุคคลดังกล่าวทุกรายโดยทันทีที่ตรวจสอบพบ พร้อมนี้เพื่อควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง กรมบัญชีกลางจึงกำหนดหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิและการเรียกคืนเงิน ดังนี้
ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว
เข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก ณ สถานพยาบาลของทางราชการแห่งเดียวหรือหลายแห่ง หรือได้รับยาประเภทเดียวกันจนมีปริมาณยาสะสมเป็นจำนวนมาก เกินขนาดที่ให้ผลการรักษาในแต่ละโรค (Therapeutic Dose) หรือเกินกว่าจำนวนที่กรมบัญชีกลางกำหนด ถือเป็นการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพื่อเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิ
มีพฤติกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงผิดปกติ กรมบัญชีกลางจะดำเนินการระงับสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงทันที และหากเข้าข่ายทุจริตหรือการกระทำความผิดทางอาญา หน่วยงานต้นสังกัดต้องดำเนินการทางวินัยหรือตามขั้นตอนของกฎหมายและเรียกคืนเงินจากผู้มีสิทธิส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเป็นการทุจริต กรมบัญชีกลางจะอนุญาตให้สามารถใช้สิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอก ณ สถานพยาบาลของทางราชการเพียง 1 แห่ง เพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรม
สถานพยาบาลของทางราชการ
เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวในระบบเบิกจ่ายตรง โดยไม่ปรากฏข้อมูล ในเอกสารว่า มารับบริการจริง ส่วนราชการต้นสังกัดต้องดำเนินการตรวจสอบ หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีพฤติกรรมทุจริตโดยใช้ระบบเบิกจ่ายตรงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนราชการต้นสังกัดต้องดำเนินการสอบสวน ทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และเรียกคืนเงินจากสถานพยาบาลของทางราชการแห่งนั้น
ส่วนราชการต้นสังกัด
มีหน้าที่ติดตามเรียกคืนเงินที่เบิกเกินสิทธิจากผู้มีสิทธิ และนำเงินส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากไม่สามารถเรียกคืนเงิน ต้องมีการบังคับชำระหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วนำเงินส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
“หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิและการเรียกคืนเงิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 127 7000 ต่อ 4366 หรือ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว