โพสต์โดย : Admin เมื่อ 1 มิ.ย. 2560 12:43:10 น. เข้าชม 166452 ครั้ง
เขียนไลน์แบบไหน คนชอบอ่าน / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
ไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เมื่อเดือนมีนาคม 2011 โดยบริษัท Naver Corporation ซึ่งมีมากกว่า 40 ภาษา โดยใช้เว็บไซต์ว่า Line.me เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ 100 ล้านคน ภายในระยะเวลา 18 เดือน และหลังจากนั้น มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านคน ภายใน 6 เดือนต่อมา และในปี 2015 มีผู้ใช้ถึง 700 ล้านคน
โอกาสนี้ผู้เขียนมีโอกาสคุยกับน้องชายสุดที่รัก (คุณณัฐพล เทพยสุวรรณ) เมื่อวันก่อนเกี่ยวกับเรื่องการใช้ไลน์ ดูเหมือนว่าเขามีข้อคิดดีๆ ที่อยากนำมาฝากคุณผู้อ่านในวันนี้ ดังนี้
ปัจจุบันหากถามใครว่ามีใครไม่รู้จักไลน์ หรือไม่เคยส่งข้อความผ่านไลน์บ้าง ยกมือขึ้น คงแทบจะไม่เห็นใครยกมือ โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ๆ นั้น รู้จักไลน์ เป็นอย่างดี ไลน์สามารถใช้ในการส่งข้อความสื่อสารจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง หรือคนหนึ่งสู่ผู้รับหลายๆ คน มีสติกเกอร์ หรือ Emoticon ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี วันนี้เราจะไม่มาพูดถึงวิธีการใช้งานไลน์ว่าใช้อย่างไร เพราะผู้อ่านทุกท่านคงคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าการใช้งานไลน์อย่างรู้เท่าทันโปรแกรมจะทำอย่างไร เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เราได้ใช้งานเทคโนโลยี นี้ได้อย่างเต็มที่
ลองมานึกกันดูว่า ในช่วงเวลาเล่นไลน์ที่ผ่านมาของคุณ คุณเคยมีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้บ้างหรือไม่ เช่น คุณส่งข้อความไปแหย่เล่นแท้ๆ ทำไมอีกฝ่ายโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ หรือ เราได้รับข้อความมาบางอย่าง พอเราทำตามข้อความนั้น ฝ่ายที่ส่งกลับบอกว่าไม่ได้หมายความว่าให้ทำจริงๆ แค่แหย่เล่นเท่านั้น เป็นต้น เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นจากการใช้ไลน์ในทุกวันนี้ ดังนั้น ผู้ที่ใช้ไลน์ควรฟังทางนี้
1. ต้องไม่ลืมว่า ไลน์ เป็นแอปฯที่ใช้ในการส่งข้อความจากคนหนึ่งถึงคนหนึ่ง โดยผู้ส่ง ส่งโดย “มโนไปเอง” ว่า ผู้รับพร้อมที่จะอ่านข้อความของเรา หมายถึงว่า ผู้รับอาจอยู่ในสภาวะหงุดหงิด หรือจิตตก อันนี้ผู้ส่งไม่รู้เลย ในทางกลับกันก็เช่นกัน ผู้รับก็ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าผู้ส่งนั้นส่งมาด้วยอารมณ์ไหน อารมณ์จริงจัง แหย่เล่น เนื่องจากผู้รับมีโอกาสรับรู้เพียงแค่อ่านข้อความเท่านั้น นอกนั้นผู้รับมโนเอาเองทั้งสิ้น ดังนั้น การส่งข้อความหนึ่งไปให้ผู้รับ ผู้ส่งจะต้องเขียนด้วยความระมัดระวังในระดับหนึ่ง หมายถึงผู้รับไม่สามารถนำไปตีความนอกเหนือไปจากข้อความได้อีก
2. หลีกเลี่ยงการส่งข้อความที่มีจุดไข่ปลา ตามหลัง เช่น คุณพูดจาได้...มาก เป็นต้น จากตัวอย่างสามารถตีความได้ทั้งบวกและลบ แล้วแต่ผู้รับจะอยู่ในอารมณ์ไหน หากผู้รับอยู่มีสติที่ดีก็จะสามารถตีความไปทางบวก แต่ถ้าผู้รับกำลังหงุดหงิดอารมณ์เสีย ก็อาจจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งกัน
3. สติกเกอร์ หรือ Emoticon ช่วยแสดงออกทางด้านอารมณ์จากฝั่งผู้ส่งได้ดี เช่น ถ้าเราส่งข้อความในลักษณะต่อว่า แล้วปะสติกเกอร์ทำหน้าตลกๆ หรือยิ้มๆ แบบมีเลศนัยไป นั่นแสดงให้ผู้รับทราบว่าข้อความที่เขียนไปเมื่อกี้แหย่เล่น หรือไม่ได้จริงจัง เป็นต้น หรือกรณีเดียวกันถ้าส่งข้อความลักษณะต่อว่าแล้วส่งสติกเกอร์รูปคนโกรธหน้าแดงไปให้ นั่นหมายถึงว่าผู้ส่งกำลังโกรธอย่างมาก
4. คิดก่อนส่ง ทุกครั้งก่อนจะส่งให้หายใจลึกๆ และอ่านข้อความทุกครั้ง การใช้กรณีพิมพ์ข้อความยาวๆ และไม่อยากให้ข้อความนั้นส่งออกไปแล้วผิดอักขระ อ่านแล้วหงุดหงิด การตรวจสอบสามารถทำให้เราอยู่ในฐานะของผู้อ่าน ไม่ใช่ผู้เขียน ดังนั้นทำใจว่าถ้าเรารับข้อความแบบนี้มาแล้วเราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้ารู้สึกดี กดส่งได้เลย
5. การส่งข้อความถึงผู้รับที่เป็นกลุ่ม จะสะดวกมากถ้าอยากจะให้ผู้อื่นรับรู้พร้อมๆ กัน แต่ถ้าส่งข้อความหาใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่ม ควรจะส่งหาตัวต่อตัวมากกว่า หรือถ้าจะส่งมากกว่าหนึ่งคน ควรเชิญมาเฉพาะคนอื่นๆ ที่ต้องการให้รู้มากกว่าที่จะกระจายข้อความลงกลุ่มให้รับทราบทั้งหมด บางข้อความอาจสร้างให้เกิดความอับอาย เรื่องเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ บางครั้งการส่งข้อความคุยกันเฉพาะบางคนในกลุ่มสามารถทำให้ผู้ไม่เกี่ยวเกิดความรำคาญได้ เช่น คนในกลุ่มอาจทำอะไรถูกใจ คนที่เหลือก็ระดมส่งสติกเกอร์ขอบคุณค่า ขอบคุณครับกันจน บางคนที่เกี่ยวแล้วเห็นว่ามีตัวเลขข้อความเตือนขึ้นมา พอกดเข้าไปอ่านกลับเจอแต่สติกเกอร์หลายสิบอัน ดังนั้น อย่าลืมว่าถ้าข้อความที่ส่งไม่ได้เกี่ยวกับคนทั้งกลุ่มอย่าส่งเข้ากลุ่มน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
6. หลีกเลี่ยงการส่งต่อรูปภาพหรือข้อความที่ส่อไปในทางเสื่อมเสีย เช่น รูปโป๊ คลิปอนาจาร ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งในปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ชอบส่งต่อข้อมูลทางลบเหล่านี้
7. กรณีเกิดข้อบาดหมางจากการส่งไลน์ แนะนำให้ย้อนกลับมาใช้วิธีสื่อสารแบบสมัยก่อน เช่น ยกหูโทรศัพท์ไปคุย ไถ่ถามว่าจริงๆ แล้วที่ส่งคิดอย่างไร หากมีอะไรคับข้องใจก็คุยกัน เพราะการคุยกัน มีการส่งน้ำเสียงแสดงถึงความคิดออกไปด้วย ยิ่งไปพบหน้ายิ่งดีจะทำให้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นเพราะนอกจากเสียงแล้วยังได้เห็นสีหน้าท่าทาง ถ้าการส่งข้อความที่ทำให้ขุ่นข้องหมองใจโดยไม่ได้ตั้งใจ รับรองว่าถ้าได้โทรศัพท์คุย หรือพบหน้ารับประทานข้าวกันสักมื้อ ปัญหาเรื่องการส่งข้อความแล้วไม่เข้าใจกันจะเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไลน์จะมีข้อจำกัดต่างๆ ตามที่ผู้เขียนๆ มาดังกล่าวนั้น แต่ประโยชน์ก็มีมหาศาลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งรูป ส่งวิดีโอ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ถึงกันทั้งเห็นภาพและไม่เห็นภาพ เป็นต้น ดังนั้น เครื่องมือที่มีประโยชน์มหาศาลจะมีคุณค่าถ้าคุณรู้จักใช้งานให้เป็นและสร้างสรรค์ ขอให้มีความสุขกับการใช้ไลน์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
Line ( application)=Wikipedia
ขอบคุณที่มาจาก MGR Online 12 กุมภาพันธ์ 2560