โพสต์โดย : Admin เมื่อ 26 พ.ค. 2560 01:51:51 น. เข้าชม 166461 ครั้ง
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ.การศึกษาฯ ที่มีนายตวง อันทะไชย เป็นประธานว่า เพื่อรับฟังความคิดเห็น และมุ่งหวังให้โรงเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ใช้เป็นคู่มือในการประเมินความจำเป็นพื้นฐาน และเป็นแนวทางกำหนดมาตรฐานสถานศึกษาเกณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้ในการส่งเสริม สนับสนุนให้การพัฒนาการศึกษาของประเทศนำไปสู่มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ กมธ.จะรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอไปยัง สนช., รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คุณหญิงสุมณฑากล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และโครงการอาหารกลางวันในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐานนั้น จากการเก็บข้อมูลการสุ่มเลือกจังหวัดเพื่อสังเกตพฤติกรรมการบริโภคนมโรงเรียน และอาหารกลางวันของผู้เรียน โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า เด็กไทยบริโภคนม และผลิตภัณฑ์นม เพียง 194.7 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งจัดว่าอยู่ในเกณฑ์การบริโภคที่น้อยมาก และตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่กำหนดให้เด็กต้องดื่มนมอย่างน้อย 200 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน และสถานการณ์โภชนาการภาวะของเด็กอายุ 6-14 ปี มีส่วนสูง และน้ำหนักไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ สธ.ตามที่กำหนดไว้ โดยต้องผ่านเกณฑ์ค่าเฉลี่ยร้อยละ 66 ซึ่งปัญหาสำคัญคือ ปัญหาโรคอ้วนของเด็กไทยเพิ่มมากขึ้น
คุณหญิงสุมณฑากล่าวต่อว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้เรียน คือ 1.ส่งเสริมให้บริโภคไข่ในมื้ออาหารกลางวัน 5 ฟอง/สัปดาห์ 2.ควรพัฒนาระบบการจัดเก็บฐานข้อมูลสารสนเทศให้ทันสมัย ถูกต้อง และแม่นยำครอบคลุมทุกพื้นที่ และเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ 3.ควรให้ความสำคัญกับหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างครอบคลุมในการดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรง 4.ควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และวิจัยเชิงประเมินผลเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ 5.ควรทบทวนการกำหนดวิธีและแนวทางปฏิบัติในการเก็บรักษานมพาสเจอไรซ์ให้มีคุณภาพ 6.ควรเพิ่มการกำหนดโทษ อัตราเบี้ยปรับ และลดสิทธิ หรือตัดสิทธิการจำหน่ายนมของผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านมาตรฐานของ สธ. 7.ควรเพิ่มปริมาณการดื่มนมอย่างน้อย 400 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน 8.ควรกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จด้านส่วนสูง และน้ำหนักในการบริโภคนมของผู้เรียนให้มีความชัดเจน และเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องผูกกับการสร้างขวัญ และกำลังใจในการขึ้นอัตราเงินเดือนของผู้บริหารสถานศึกษา และครูด้วย 9.ควรแปรรูปน้ำนมเป็นนมอัดเม็ดเพื่อให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการบริโภคนมเพิ่มมากขึ้น 10.ควรจัดซื้อนมโรงเรียนที่มีรสชาติที่หลากหลาย มิใช่เพียงรสจืดเท่านั้น เพื่อสร้างความพึงพอใจ และเจตคติที่ดีในการดื่มนมของนักเรียน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญมาก กมธ.ควรจัดทำร่างรายงานข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องดังกล่าวให้เกิดความครอบคลุม และสมบูรณ์ เพื่อเสนอรัฐบาลให้กำหนดแนวทาง และวิธีการขับเคลื่อนโดยอาจบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมต่อไป
นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ กมธ.การศึกษาฯ กล่าวว่า แนวทางการผลิตครูอาชีวศึกษา มาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวศึกษา และแนวทางการพัฒนาครูอาชีวศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ กมธ.การศึกษาฯ และอนุ กมธ.การอาชีวศึกษา ได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับแนวทางการผลิตครูอาชีวศึกษา มาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวศึกษา และแนวทางการพัฒนาครูอาชีวศึกษา สรุปได้ดังนี้ 1.ควรอบรม หรือปลูกฝังมาตรฐานหลักธรรมาภิบาลในทุกสาขาวิชา
ที่เข้ารับการศึกษาของผู้เรียนอาชีวศึกษา 2.ควรนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มีประโยชน์มาเป็นส่วนสำคัญในการผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพในเชิงปฏิบัติ 3.ควรกำหนดแนวทาง หรือวิธีการในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่สนใจในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนเข้ามาศึกษาเพื่อเป็นครูเพิ่มมากขึ้น 4.ควรกำหนดค่าตอบแทนครูอาชีวศึกษาให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพ และ 5.ครูอาชีวศึกษาจำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะ เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพครูอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ