แจกฟรีโปรแกรมจัดตารางเรียน
แจกฟรีโปรแกรมเช็คชื่อ บันทึกความดี
กดติดตาม Facebook และ YouTube ห้องพักครูเพื่อเป็นกำลังใจ
โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program)
โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program)
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับมาตรฐานโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program: EP) ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิด และมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม อาทิ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ดร.พิสุทธิ์ ยงค์กมล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน, ศึกษานิเทศก์, ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้สอนภาษาอังกฤษจำนวน 900 คน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า จากการที่สถานศึกษาแต่ละแห่งมีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบ English Program ไม่เท่ากัน ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ การส่งเสริมสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบ English Program ได้ ด้วยการลดการกำหนดกฎเกณฑ์ และการควบคุมกฎต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้อต่อการเปิดหลักสูตร English Program อีกทั้งไม่ควรมีการกำหนดจำนวนวิชา หรือไม่นำเอาจำนวนวิชาที่จะสอนด้วยภาษาอังกฤษมาเป็นตัวตั้ง เพราะที่ผ่านมาการจัดการเรียนการสอน English Program ในวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีความมุ่งหวังให้เด็กให้ความรู้วิชาการ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะเด็กส่วนมากไม่ได้ทั้งความรู้วิชาการ และใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วย ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนนำลูกหลานไปติวหนังสือที่อื่น เพราะกลัวว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมในการสอนแบบ English Program ก็ควรจัดการเรียนการสอนในวิชาหลักเป็นภาษาแม่ และสอนเป็นภาษาอังกฤษในวิชาที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษจริง ๆ เช่น สุขศึกษา พลศึกษา สังคมศึกษา ศิลปศึกษา เป็นต้น เนื่องจากวิชาเหล่านี้จะมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากกว่าวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางกำหนดให้มีการประเมินเป็นภาษาอังกฤษสำหรับวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อความสอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่เรียน และการวัดผล หรืออาจจะกำหนดให้ใช้วิธีการเทียบเคียงคะแนนสอบจากการประเมินระดับนานาชาติกับคะแนน O-NET ได้
ในส่วนของครูที่จะมาสอน English Program นั้น ก็จะมีการเปิดโอกาสให้ครูชาวไทยที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษเข้ามาสอนได้มากขึ้น ด้วยการไม่กำหนดเพดานของครู และเปิดเสรีให้คนไทยที่เก่งภาษาอังกฤษมาสอนโดยได้รับเงินเดือนเทียบเท่าชาวต่างชาติ จึงขอให้ดูที่คุณภาพของครู อย่าคำนึงถึงเพียงแค่การกำหนดคุณสมบัติครู เพราะที่ผ่านมาได้กำหนดกฎเกณฑ์มากมายทำให้ได้ครูไม่เก่งมาสอน English Program อีกทั้งยังมีแนวทางในการปลดล็อคการจำกัดเงินเดือนครูชาวต่างชาติด้วย โดยควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดในการดำเนินการจ้างครูที่มีคุณภาพตามอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ต้องทำให้เด็กที่ไม่ได้เรียน English Program ไม่รู้สึกต่ำต้อย มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยให้คำนึงถึงการเปิดให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษ สถานศึกษาใดพร้อมสอนเป็นภาษาอังกฤษกี่วิชา ก็เปิดสอนเท่านั้น ซึ่งจะไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าต้องเปิดสอนกี่วิชา อีกทั้งทุกสถานศึกษาจะดำเนินการร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นสถานศึกษาของรัฐ หรือสถานศึกษาเอกชน เนื่องจากตอนนี้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่วิชา แต่เป็นเครื่องมือ ดังนั้น เราจะร่วมกันพัฒนา และใช้เครื่องมือนี้ให้เป็นประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร
การประชุมในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกคนได้มาประชุมพร้อมกันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน English Program โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องการปลดล็อคให้ทุกอย่างเดินไปได้อย่างก้าวหน้า ขอให้ทุกคนช่วยจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งหาแนวทางขับเคลื่อนการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนไปพร้อม ๆ กัน
ม.ล.ปริยดา ดิศกุล กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันคะแนนเฉลี่ย O-NET ของนักเรียนไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จำเป็นต้องยกระดับภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้นให้สูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ร่วมมือกับบริติช เคานซิล ประเทศไทย ดำเนินการยกระดับภาษาอังกฤษด้วยการจัดอบรม Boot Camp แก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษจำนวน 350 คน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการอบรมต้องมีผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษได้ในระดับ B2 ตามมาตรฐาน CEFR เพื่อเข้ารับการอบรมกับวิทยากรเจ้าของภาษาเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งมีผลตอบรับจากการอบรมที่ดีมาก เนื่องจากครูที่เข้าอบรมได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการนำสื่อการเรียนการสอนไปใช้ในห้องเรียน ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ขยายผลการเปิดศูนย์ Boot Camp จำนวน 10 ศูนย์ทั่วประเทศ
หลังจากการประชุมในครั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยมีตัวแทนจากสถานศึกษาที่เปิดสอน English Program ทั้งสถานศึกษาในสังกัดของรัฐและเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อดำเนินการแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอนแบบ English Program
สำหรับการนำสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้น ที่ผ่านมามีสถานศึกษาหลายแห่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยสอน เพื่อให้ได้คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น อาทิ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษผ่าน Skype เป็นต้น และเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการจัดงาน English Expo แต่ในปีนี้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ มาจัดบูธระหว่างการประชุมของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอสื่อและเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเยี่ยมชมแต่ละบูธเพื่อดูว่ามีสิ่งใดที่สนับสนุนการเรียนการสอนในห้องเรียนและสถานศึกษาได้
อีกทั้งจะเผยแพร่รายชื่อบริษัทที่ผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไว้ที่หน้าเว็บไวต์ของสถาบันภาษา สพฐ. ด้วย เพื่อความสะดวกของครูและผู้บริหาร ในการเข้าไปติดตามและศึกษาว่ามีบริษัทใดจัดทำสื่อเพื่อการเรียนการสอนบ้าง
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
9/5/2560