โพสต์โดย : Admin เมื่อ 16 มิ.ย. 2564 07:49:36 น. เข้าชม 166413 ครั้ง
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และในฐานะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอและให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเสนอรัฐสภา ต่อไป นั้น เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทยเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาชาติบ้านเมืองด้านการศึกษาและการเตรียมเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพในการพัฒนาชาติชาติ อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....นั้นเป็นร่างกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้ ดังนี้
ข้อ ๑ มาตรา ๒๕๘ อนุ ๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ บัญญัติว่า “ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่” แต่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ฉบับนี้มิได้มีมาตราใดที่กำหนดในเรื่องโครงสร้างตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ให้ทำแต่อย่างใด มีเพียงกำหนดไว้ในมาตรา ๙๙ ว่า “ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้...” การกำหนดเช่นนี้เป็นการกำหนดที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องการจัดตั้งกรมหรือหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่จะมีหน้าที่ดูแลจัดการศึกษาในแต่ละด้านทั้งด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาด้านอาชีวศึกษา การศึกษาด้านการศึกษาตามอัธยาศัยและการศึกษาตลอดชีวิต ฯลฯ เป็นต้นเพราะการจะจัดตั้งหน่วยงานระดับกรมจะต้องดำเนินการโดยรัฐสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถดำเนินการได้ ในขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้กำหนดเรื่องโครงสร้างไว้ในกฎหมายดังกล่าว
ข้อ ๒ มาตรา ๗๗ วรรคสอง ของของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ บัญญัติว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนและนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน” แต่ในทางปฏิบัติ รัฐมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ
๒.๑ สภาการศึกษา ซึ่งได้เคยดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผลการรับฟังความคิดเห็นที่ปรากฏในที่ประชุมทุกแห่ง พบว่าผู้เข้าประชุมได้แสดงความคิดเห็นโดยไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ฉบับดังกล่าวนี้ ทั้งฉบับ อีกทั้งสภาการศึกษาก็มิได้ดำเนินการใดๆในการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน
๒.๒ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์ (Online) ผลการรับฟังความคิดเห็นมีข้อค้นพบดังนี้
- มีผู้แสดงความคิดเห็นเป็นชาย จำนวน ๒ คน จากจำนวนประชากรชาวไทย จำนวน ๖๖,๕๕๘,๙๓๕ คน (หกสิบหกล้านห้าแสนห้าหมื่นแปดพันเก้าร้อยสามสิบห้าคน)
- มีผู้เข้าเยี่ยมชม จำนวน ๑๔๑ คน จากจำนวนประชากรชาวไทย จำนวน๖๖,๕๕๘,๙๓๕ คน (หกสิบหกล้านห้าแสนห้าหมื่นแปดพันเก้าร้อยสามสิบห้าคน)
จากข้อค้นพบดังกล่าวเห็นว่าจำนวนประชากรไทยผู้มาแสดงความคิดเห็นมีเพียง ๒ คน เท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นตัวแทนตามหลักวิชาและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมิได้ดำเนินการใดๆในการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน
จากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ......ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เป็นร่างกฎหมายที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ประกอบกับเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาชาติบ้านเมืองด้านการศึกษาและการเตรียมเยาวชนให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพในการพัฒนาชาติชาติในอนาคต โดยเป็นร่างกฎหมายที่มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการที่ไม่สามารถนำไปสู่วัตถุประสงค์ที่คาดหวัง เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย จึงขอความเมตตาจากท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอได้โปรดดำเนินการให้เป็นไปตามหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและมีบัญชาให้ยกเลิกเพิกถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ฉบับนี้ ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา ต่อไป
"คอท. จะไปเรียนพบและยื่นหนังสือต่อท่านชวน หลีกภัย ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่สภาผู้แทนราษฎร" นายรัชชัยย์ ฯ กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และในฐานะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย