โพสต์โดย : Admin เมื่อ 9 ก.ค. 2560 12:55:24 น. เข้าชม 166429 ครั้ง
การปฏิรูปประเทศของไทยตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ (พ.ศ.2560) มาตรา 258 บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ สำหรับการปฏิรูปด้านการศึกษานั้น ได้กำหนดแนวทางในการปฏิรูปไว้ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่
1) ให้สามารถดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เป็นค่าใช้จ่าย
2) ให้ดำเนินการตรากฎหมาย เพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 54 วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
3) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู และอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรม ในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู
4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
ด้วยเหตุที่การศึกษาระดับต่างๆ ของไทย มีต้นสังกัดแตกต่างกัน ในที่นี้จะขอเสนอเฉพาะการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นหน่วยระดับชาติและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนที่เป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ โดยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกันทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่
จากการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.2542 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การปรับปรุงการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา มีการดำเนินการที่ไม่ชัดเจน ไม่ค่อยสอดคล้องกัน เมื่อย้อนกลับไปดูการปรับปรุงการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษา ในอดีตของกรมสามัญศึกษาซึ่งถูกยุบไปเป็นกรณีศึกษาดูเหมือนว่ามีการดำเนินการที่เข้มข้น ชัดเจนภายใต้โครงการของกรมสามัญศึกษาที่มีการแบ่งส่วนงานระดับกรม โดยมีหน่วยศึกษานิเทศก์ ระดับกรมเป็นหน่วยรับผิดชอบในการทำหน้าที่นิเทศการศึกษาที่มีส่วนในการปรับปรุงการเรียนการสอนโดยตรง มีการจัดกลไกในการนิเทศการศึกษา ระดับเขตพื้นที่ เรียกว่าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 12 เขตการศึกษา
โดยกรมสามัญศึกษามอบอำนาจให้อยู่ในความดูแลของสำนักงานศึกษาธิการเขต สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ที่ทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำวิจัย และประเมินการจัดการศึกษา เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน คือ ศึกษานิเทศก์ประจำรายวิชาต่างๆ ที่ตรงกับรายวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน (ฝ่ายการสอน) และยังมีศึกษานิเทศก์ที่ให้การสนับสนุนทางวิชาการและการปฏิบัติงานแก่ครูสายสนับสนุน
ทางวิชาการ และการปฏิบัติงานแก่ครูสายสนับสนุนการสอนในโรงเรียน ขณะเดียวกันสายบริหารโรงเรียน ได้แก่ หัวหน้าสถานศึกษา และผู้ช่วยสถานศึกษา ก็มีศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบด้านการบริหารสถานศึกษาโดยเฉพาะเพื่อประสานงานให้ข้อมูล วิจัย ประเมินผล และให้คำปรึกษา แก่ผู้บริหารโรงเรียน
ในด้านการปรับปรุง/พัฒนาการบริหารโรงเรียนเพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอนผ่านการนิเทศภายในของสถานศึกษา ในระดับจังหวัดกรมสามัญศึกษาได้ออกแบบให้มีศึกษานิเทศก์จังหวัด จำนวน 1-2 คนเท่านั้น เพื่อให้เป็นหน่วยประสานงานระหว่างโรงเรียน และหน่วยศึกษานิเทศก์เขต มีระบบการทำงานที่เป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพโดยส่วนกลาง (หน่วยศึกษานิเทศก์กรม) จะเป็นผู้จัดทำแผนหลัก (แผนการนิเทศการศึกษารายปี) โดยเชื่อมโยงกับแผนการนิเทศการศึกษาของหน่วยศึกษานิเทศก์เขต เป็นรายปีทุกปีดำเนินการนิเทศการศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ
กรณีศึกษาของระบบการนิเทศการศึกษาในอดีตของกรมสามัญศึกษาเป็นกิจกรรมเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างแท้จริง มีความสอดคล้องในลักษณะเนื้องานเดียวกัน ในส่วนของระบบการนิเทศการศึกษา ผู้นิเทศจะต้องได้รับการเข้าอบรมหลักสูตรศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษาทุกคนและมีการประชุมร่วมกันระดับชาติในรอบ 1 ปี ทั้งต้นปีงบประมาณและสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเตรียมการและประเมินผลงาน ครูในสังกัดจะได้รับการนิเทศเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องทุกปีงบประมาณรูปแบบที่กล่าวถึงนี้เป็นความคมของภูมิปัญญาของนักศึกษาในอดีตที่ยิ่งใหญ่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา และหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษาทุกท่าน
เมื่อกฎหมายสูงสุดกำหนด แนวทางปฏิรูปการศึกษาให้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียน กรณีศึกษาในอดีตในการทำงานด้านการปรับปรุงการเรียนการสอนของกรมสามัญศึกษาโดยผ่านการนิเทศการศึกษาน่าจะเป็นบทเรียนและแนวทางที่นำสู่การปฏิบัติได้ไม่ยาก
เนื่องจากปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษา (Edtech) มากมายเข้ามาสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนด้วยระบบการนิเทศการศึกษายุคใหม่ ในการปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงาน ขอนำเสนอให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้มีหน่วยศึกษานิเทศก์ เป็นหน่วยงานระดับชาติ ในสังกัด สพฐ.ภายในโครงสร้างของหน่วยศึกษานิเทศก์ระดับชาติ มีกลุ่มนิเทศการศึกษามัธยมศึกษา และกลุ่มนิเทศระดับประถมศึกษา ระดับเขตพื้นที่ (กรณีที่ไม่มีการยุบเขตพื้นที่) ให้มีหน่วยศึกษานิเทศก์ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัยธยมศึกษา และในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
โดยแต่ละเขตพื้นที่จะมีศึกษานิเทศก์ประจำเขต ซึ่งในปัจจุบันได้มีโครงสร้างในลักษณะนี้อยู่แล้วในระดับเขต แต่จะต้องปรับให้มีอัตรากำลังให้สอดคล้องกับรายวิชา/กลุ่มวิชาที่เปิดสอนในโรงเรียนทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ในกรณีที่มีการยุบเขตพื้นที่การศึกษา สพฐ.จัดให้มีหน่วยนิเทศประจำสำนักงานศึกษาธิการ ภาคทุกภาคการศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยมอบอำนาจให้ศึกษาธิการภาค กำกับดูแล และให้มีหน่วยศึกษานิเทศก์ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ประจำสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อประสานงานระหว่างหน่วยศึกษานิเทศก์ประจำภาคการจังหวัด เพื่อประสานงานระหว่างหน่วยศึกษานิเทศก์ ประจำภาคการศึกษา และโรงเรียน รูปแบบโครงสร้างดังกล่าวนี้
จะเห็นได้การปฏิบัติงานในด้านการปรับปรุงการสอนในโรงเรียน การสอนในโรงเรียนทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จะมีความเป็นเอกภาพทั้งด้านเนื้อหา และวิธีการด้วยมาตรการ การนิเทศการศึกษาทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ สำหรับในระดับสถานศึกษาควรมีการปรับองค์การในโรงเรียนทุกโรงเรียนให้มีกลุ่มงานนิเทศการศึกษาเพื่อมุ่งเป้าหมาย การปรับปรุงการเรียนการสอนของครู
ดังนั้น การปรับปรุงการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่ อาจย้อนยุคและประยุกต์ใช้การนิเทศการศึกษาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนของกรมสามัญศึกษาในอดีตเป็นฐานในการปฏิรูป
สุรชัย เทียนขาว