โพสต์โดย : Admin เมื่อ 21 มี.ค. 2560 01:33:09 น. เข้าชม 166452 ครั้ง
สทศ.ประกาศผลสอบโอเน็ตนักเรียน ม.6 ปีการศึกษา 2559 แล้ว ผลสอบนักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทยเกินครึ่งวิชาเดียว แต่คะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษสูงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ รร.ขนาดใหญ่พิเศษ รร.ในเมืองทำคะแนนเฉลี่ยนสูงสุดทุกวิชา
วันนี้ ( 20 มี.ค.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สทศ.ได้ประกาศผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2559 ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลการสอบพบว่าวิชาภาษาไทย ผู้เข้าสอบ378,161 คน ทำคะแนนเฉลี่ย 52.29 สังคมศึกษา ผู้เข้าสอบ 378,924 คน คะแนนเฉลี่ย 35.89 ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 378,779 คนคะแนนเฉลี่ย 27.76 คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 379,064 คน คะแนนเฉลี่ย 24.88 และ วิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 378268 คะแนนเฉลี่ย 31.62 ซึ่งภาพรวมผลการสอบครั้งนี้มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าผลสอบโอเน็ตปีการศึกษา 2558 จำนวน 2 วิชา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือคือ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อจำแนกตามผลการสอบขนาดโรงเรียน ที่ตั้ง และภูมิภาคพบว่า โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในการสอบทุกวิชา โรงเรียนที่ตั้งในเมืองมีคะแนนสูงกว่าโรงเรียนที่ตั้งนอกเมืองทุกวิชา และโรงเรียนในกรุงเทพมหานครมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด และมีคะแนนสูงกว่าโรงเรียนที่ตั้งในภาคอื่นๆ ทุกวิชา นอกจากนี้ โรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศทุกวิชา หากจำแนกตามรายสาระการเรียนรู้ พบว่า สาระการเรียนรู้ที่มีคะแนนเฉลี่ย สูงสุดในแต่ละวิชา ดังนี้ วิชาภาษาไทย คือ สาระการฟัง การดู และการพูด วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม คือ สาระภูมิศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ คือ สาระภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก วิชาคณิตศาสตร์ คือ สาระจำนวนและการดำเนินการและ วิชาวิทยาศาสตร์ คือ สาระชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
“ในปีนี้ สทศ.ยังได้จัดทำใบรายงานผลสอบโอเน็ต แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ รายบุคคล โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา และ ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค เพื่อให้นักเรียน ครู โรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำผลสอบโอเน็ต ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ดียิ่งขึ้น” รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2560 เวลา 19.52 น. ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม