โพสต์โดย : Admin เมื่อ 17 มิ.ย. 2560 14:04:54 น. เข้าชม 166377 ครั้ง
อ.ก.ค.ศ.แก้บทเฉพาะกาลมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยาฐานะครูสายผู้สอน เตรียมเสนอ ก.ค.ศ.16 มิ.ย.นี้ ยืนยันอีกครั้งครูไม่เสียสิทธิ์
วันนี้ (12มิ.ย.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะบุคลากรทางการศึกษา สายการสอน โดยได้หารือในหลักการว่า การพิจารณาวิทยฐานะแนวใหม่นอกจากจะพิจารณาคุณภาพงานใน 3 เรื่อง คือ การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการชั้นเรียน และการพัฒนาตนเอง แล้ว จะพิจารณาการสั่งสมประสบการณ์ทั้งประสบการณ์การสอน เช่น การนับชั่วโมงการสอน และประสบการณ์ด้านความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้น เช่น
การอบรมและพัฒนา ด้วย ขณะที่หลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนวิทยฐานะแต่ละวิทยฐานะ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เหมาะสมกับระดับวิทยฐานะและสะท้อนความเชี่ยวชาญ โดยสิ่งสำคัญในการพิจารณานั้น ต้องดูผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก ส่วนการเลื่อนวิทยฐานะแต่ละระดับจะกำหนดระยะเวลา 5 ปี แต่จะมีช่องทางพิเศษสำหรับครูที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ หรือสอนในพื้นที่พิเศษ หรือมีความยุ่งยากในการปฏิบัติเป็นพิเศษด้วย
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในการประชุม ก.ค.ศ.วันที่ 16 มิ.ย. เพื่อให้ประกาศใช้ทันวันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยจะพิจารณาใน 3 เรื่อง คือ 1.หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ สายงานสอน 2.ตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานจากการปฏิบัติหน้าที่ด้านการเรียนการสอน และ3.บทเฉพาะกาลหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ซึ่งในกรณีของบทเฉพาะกาลที่ครูเกรงว่า จะเสียสิทธิ์นั้น ยืนยันว่าจะยังคงสิทธิ์ของทุกกลุ่มไว้เหมือนเดิม
“บทเฉพาะกาลดังกล่าวได้มีการปรับปรุงแก้ไข หลังจากที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้มีการประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากหลายช่องทาง รวมถึงโฟกัสกรุ๊ป ดังนั้นขอให้มั่นใจว่าครูจะไม่เสียสิทธิ์อย่างที่กังวลกัน เพราะได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับความก้าวหน้ากับวิชาชีพอื่นด้วย ซึ่งพบว่าเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ของครูสายการสอนมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า เช่น เกณฑ์วิทยฐานะเดิมพบว่าครูจะไปค้างที่ชำนาญการพิเศษกว่า 200,000 คน แต่เกณฑ์ใหม่จะมีโอกาสไปได้ถึงวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษมากขึ้น
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการใช้หลักเกณฑ์และวิธีการใหม่ไปแล้ว นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ยืนยันว่า หากยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก็ยังสามารถที่จะปรับปรุงได้อยู่”ดร.ชัยพฤกษ์กล่าว
อ่านต่อที่ : เดลินิวส์ จันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2560 เวลา 11.56 น.