โพสต์โดย : Admin เมื่อ 8 ธ.ค. 2560 07:38:50 น. เข้าชม 166422 ครั้ง
ความคืบหน้ากรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมเสนอแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ในข้อที่ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (มาตรา 53(3)) และเป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียน (มาตรา 53(4)) เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) กับ ศธจ. และผู้อำนวยการโรงเรียนกับ ศธจ. โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในสัปดาห์นี้นั้น
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดร่างแก้ไขคำสั่ง คสช.ฉบับของ ศธ.ก่อน ถ้าเป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พูดจริง ก็เป็นสิ่งที่รับได้และ ชร.ผอ.สพท.จะชะลอการเคลื่อนไหวและชะลอการเสนอร่างแก้ไขฉบับของ ชร.ผอ.สพท.ต่อนายกรัฐมนตรี ออกไปก่อน เพราะการแยกบอร์ดออกเป็น 2 ชุด คือบอร์ดบูรณาการการศึกษากับบอร์ดงานบุคคลนั้น ตรงกับข้อเสนอที่ตนเคยเสนอ พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. สมัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. แต่สมัยนั้น พล.ต.ณัฐพงษ์ ไม่รับข้อเสนอของตน
นายธนชนกล่าวต่อว่า การแยกบอร์ดออกเป็น 2 ชุดดังกล่าว ช่วยให้งานบูรณาการการศึกษาเดินหน้าไปได้ซึ่งตรงกับข้อเสนอของตนที่อยากให้บอร์ดด้านการศึกษา ทำเรื่องบูรณาการการศึกษาโดยไม่ต้องมาติดหล่มกับงานบริหารบุคคล ฉะนั้นการที่ ศธ.เสนอให้มี 2 บอร์ดดังกล่าว โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานทั้ง 2 ชุด จึงเป็นสิ่งที่ตนรับได้และจะได้ช่วยป้องกันปัญหาทุจริตได้ ดังที่ตนเคยบอกว่าข้อดีของ กศจ.ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คือป้องกันปัญหาการทุจริต แต่ข้อเสีย ล่าช้าเพราะติดขัดขั้นตอนที่ต้องผ่าน ศธจ. ขณะที่ของเดิมสมัยที่เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษา ข้อดีคือรวดเร็ว แต่ข้อเสีย มีปัญหาความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นกับบางเขตพื้นที่ฯ ฉะนั้น เมื่อแนวทางของ ศธ.คือมีบอร์ดบริหารงานบุคคล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติเรื่องบริหารงานบุคคล และให้ ผอ.สพท.เป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) และ ผอ.โรงเรียนใช้อำนาจตามมาตรา 53(4) จึงเป็นสิ่งที่รับได้ เพราะแนวทางเราขอแค่ไม่ผ่าน ศธจ.เพราะทำให้เรื่องล่าช้า
“ที่เหลือคงต้องไปดูรายละเอียดร่างแก้ไขของ ศธ.ว่า เลขานุการบอร์ดการบริหารงานบุคคล เป็นใคร ถ้าเป็น ศธจ. ก็จะคล้ายกับแนวทางของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10-11/2559 แต่ถ้า ผอ.สพท.เป็นเลขานุการ กศจ. ก็จะคล้ายกับสมัย อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ” นายธนชนกล่าว และว่า ทั้งนี้แนวทางนี้ถือว่าวินวินทั้งสองฝ่าย ขณะที่เรื่องการบริหารงานบุคคล ก็ไม่ล่าช้า ฉะนั้นเมื่อออกมาแนวทางนี้ ก็ต้องยอมรับข้อเสนอของ ศธ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 7 ธันวาคม 2560 - 16:25 น.