โพสต์โดย : Admin เมื่อ 30 ก.ค. 2564 02:15:37 น. เข้าชม 166572 ครั้ง
เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม น.ส.ตรีนุช เทียงทอง รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ที่ประชุมอนุมัติ หลักการการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจาก ก.ค.ศ.ได้มีการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะใหม่ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้นำผลการประเมินการพัฒนางานตามข้อตกลงไปใช้ เป็นองค์ประกอบในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ประกอบกับตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 5 เรื่อง ซึ่งนโยบายที่ 2 คือ การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะควบคู่กับระบบการประเมินเงินเดือน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ และหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะดังกล่าว
น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า โดยกำหนดหลักการการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน 6 ประเด็น ดังนี้ 1.สภาพปัญหา ลดการประเมินที่ซ้ำซ้อนและไม่เพิ่มภาระงานให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2.หลักการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนจากการประเมิน ลดภาระงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นระบบการประเมินแบบ Performance-based Appraisal เป็นหลัก โดยใช้ระบบการประเมินแบบ Result-based Appraisal ร่วมด้วย 3. องค์ประกอบการประเมิน โดยกำหนดองค์ประกอบการประเมิน 3 ข้อ ดังนี้ 1 การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงาน 80 คะแนน 2 การประเมินการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษ 10 คะแนน และ 3 การประเมินการปฏิบัติตนในการรักษาวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ 10 คะแนน 4.เครื่องมือ การประเมินข้อตกลงในการพัฒนางานเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ (PA) การคงวิทยฐานะ และการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน ใช้ตัวชี้วัดในการประเมินชุดเดียวกัน ซึ่งกำหนดจากงานตามมาตรฐานตำแหน่ง 5.วิธีการประเมิน และ 6.การนำผลการประเมินไปใช้ ใช้ในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ และใช้เป็นคุณสมบัติในการขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ทั้งนี้ ที่ประชุมให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …. เพื่อให้สอดคล้องกับความกับเทคโนโลยีที่ได้มีการพัฒนาหรือได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ก.ค.ศ. จึงได้พิจารณาทบทวน ปรับปรุง และแก้ไขระเบียบดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการแก้ไขเป็น (ร่าง) ระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยระบบทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ซึ่งในรายละเอียดของ (ร่าง) ระเบียบดังกล่าว กำหนดให้การจัดทำข้อมูลทะเบียนประวัติจะเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว โดยจะไม่มีการจัดทำระบบเอกสาร และในขณะเดียวกันสำนักงาน ก.ค.ศ. ก็ได้พัฒนาระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ (CMSS) ควบคู่ไปพร้อมกับ (ร่าง) ระเบียบดังกล่าวด้วย เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สามารถจัดทำทะเบียนประวัติข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถนำข้อมูลในระบบทะเบียนประวัติอิเล็กทรอนิกส์ (CMSS) ไปใช้ในการบริหารงานบุคคล เพื่อให้สามารถสืบค้น อ้างอิง และใช้เป็นหลักฐานที่ใช้ในราชการได้ ซึ่งเป็นไปตามวาระเร่งด่วน (Quick win) ของ ศธ.ที่ให้จัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศให้เป็นระบบ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป” น.ส.ตรีนุชกล่าว