โพสต์โดย : Admin เมื่อ 26 พ.ค. 2563 12:18:14 น. เข้าชม 166489 ครั้ง
เพราะเป็นครูในโรงเรียนที่ห่างไกลจากชุมชน และนักเรียนมีความหลากหลายมาก ที่ต้องทำแน่ๆ คือการเตรียมการก่อน บางครั้งสื่อและอุปกรณ์การสอนที่ควรจะมีก็ไม่พร้อม ครูก็ต้องลงทุนเองหลายรายการ เช่นสารเคมีที่ (ต้องใช้สอนวิชาวิทยาศาสตร์) ก็ต้องซื้อเองไปก่อน เพราะถ้าสั่งซื้อตามระบบอาจต้องใช้เวลานานเกินกว่าจะคอยได้
นอกจากนี้การเสริมองค์ความรู้นอกห้องเรียนก็สำคัญ ยิ่งโรงเรียนอยู่ห่างไกลจากชุมชน โอกาสที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ (ในงานวิชาการ) จึงเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ตัวครูเองก็ได้มีการจัดทริปเสริมความรู้ให้กับนักเรียน เช่นพาไปพิพิธภัณฑ์ต่างๆ พาไปสวนสัตว์ พาไปลงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ ซึ่งการไปลักษณะนั้น ก็ต้องไปนอกเวลาราชการ โดยใช้เวลาว่างของพวกเราเอง อีกเรื่องที่สำคัญ คือการดูแลนักเรียนในฐานะครู
เราดูแลนักเรียนเป็นลูกเป็นหลานกระทั่งนอกห้องเรียน โดยเฉพาะเวลาที่เด็กๆ มีปัญหา เช่น พ่อแม่ติดต่อลูกไม่ได้ก็โทรมาร้อนใจกับคุณครู เที่ยงคืนตีหนึ่ง เราก็ต้องออกไปตามหา ออกไปอยู่กับผู้ปกครอง ไปเป็นกำลังใจให้กัน
สำคัญคือการเข้าใจ และเข้าถึงนักเรียน เช่น การดูแลกัน ขับรถรับส่ง เข้า-ออกโรงเรียน โดยทางโรงเรียนจะมีครูตุ้ย วีรพล ธรรมรักษ์ ทำหน้าที่สารถี โดยขับรถอีแต๋นพ่วงของโรงเรียน เพราะทางเข้าโรงเรียนห่างจากถนนประมาณ 900 เมตร นักเรียนเดินค่อนข้างไกล
หรือตัวเราครูศุภณัฐ กาหยี (ครูท๊อฟฟี่) ก็มีการตั้งชุมนุมเกม ROV และมีการเล่นเกมต่างๆ กับนักเรียนด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อการติดตามดูแลในช่วงที่ผู้ปกครองอาจจะติดตามไม่ได้ คุณครูก็ปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้เพิ่มเติม เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลนักเรียนด้วยค่ะ
การเป็นครู เราต้องเป็นตลอด 24 ชม. งานอื่นเข้างาน 9 โมง เลิก 5 โมง กลับบ้านแล้วปาร์ตี้ได้ แต่พอเรามาเป็นครูปุ๊บ ตลอดเวลาของเราคือนักเรียน เลิกงานกลับบ้านต้องเตรียมงานสอน มีงานเอกสารอื่นๆ ที่ต้องช่วยทำ ยิ่งโรงเรียนที่มีบุคลากรน้อย ครูทุกคนยิ่งต้องช่วยเหลือกัน เพราะมันคือการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปต่อได้ โดยที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนอื่นใดเพิ่มเติมเลย นอกจากความสุขในการทำงาน ในการที่ได้เห็นนักเรียนหมดกังวลเรื่องอื่นๆ เพื่อให้พวกเขาได้มุ่งมั่นเฉพาะการเรียนได้อย่างสบายใจค่ะ
เนื่องจากโรงเรียนที่ผมอยู่ ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรงเรียนทุรกันดารครับ ความจริงเราไม่ได้อยากเรียกร้องหรือต้องการบอกถึงเรื่องราวต่างๆ ของหน้าที่ครูที่นี่ เพราะเราใช้คำนำหน้าว่าครู จึงไม่มีเหตุผลอื่นใดจะมาอธิบายว่าครูต้องสอนนักเรียนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามีใครถามถึงปัญหา มันมีแน่นอนครับ
นอกจากการสอนหนังสือในห้องเรียนแล้ว นอกจากเราอยากให้เขามีความรู้มีวิชาแล้ว นอกจากเราอยากให้เขาเป็นคนดีแล้ว เราก็อยากจะให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วย มีความสุขในช่วงชีวิตหนึ่ง เท่าเทียมหรือไม่เท่าเทียมกับเด็กทั่วไป เราจึงจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่เราทำได้ โดยมีเป้าหมายของอุดมการณ์นั้นคือ ลูกศิษย์
การใช้ชีวิตในหนึ่งวัน เราทำกับข้าวเพื่อให้เขาได้กินดี เราสร้างและซ่อมแซมที่พักพิง ให้เขาได้นอนดี เราปรับปรุงและหาผู้ใจบุญปรับปรุงโรงเรียนให้เขาได้อยู่ดี เราต้องเป็นผู้ดูแลเขายามเจ็บป่วยให้ถึงมือหมอให้ได้ ป้องกันไม่ให้ใครหน้าไหน ที่ไม่หวังดี ทั้งยาเสพติดหรือใดๆ ก็ตาม – เพื่อเขา
เรานำเงินจากส่วนกลางมาใช้จ่ายอย่างถูกต้องและเหมาะสม ถึงแม้ส่วนกลางมาเพื่อคอยตรวจสอบแค่นั้น ไม่ทำ…ไรเลย บางทีก็ต้องหาเงินเพิ่มนะครับ สำหรับเด็กนะ
ในส่วนของงานทั่วไป เราต้องทำหนักกว่าครูในเมืองนะ ทั้งเอกสารหรือการเดินทาง เราคือครูเหมือนกัน เราต้องส่งเสริมเขายามเขาจบการศึกษาชั้นต้น ต้องส่งเสริมมากกว่าเด็กคนอื่นนะครับ เพราะต้นทุนชีวิตไม่เหมือนกัน
หากถามผมว่า ผมเป็นครูที่นี่ ผมทำอะไรบ้าง ผมบอกได้เลยครับ ผมทำกับเขาเหมือนกับพ่อแม่ทำให้ลูกคนหนึ่ง เพราะ 1 เดือน เขาใช้ชีวิตอยู่กับผม 20 กว่าวัน
ชีวิตจริงๆ เรื่องราวจริงๆ ความรู้สึกจริงๆ เรารู้ถึงตัวเด็กมากกว่าส่วนกลางนะครับ หน้าที่คือหน้าที่ ผมก็กำลังทำหน้าที่ที่หนักอึ้ง ดั่งเช่นคำว่าครู ที่แปลว่าหนัก
ก่อนอื่น อยากเชิญชวนให้เข้ามาสัมผัสกับ ‘โลกที่แท้ทรู’ ของอาชีพครูไทยกันค่ะว่าที่การศึกษาไทยไม่พัฒนา เพราะครูไม่สอน ไม่พัฒนาตนเอง ไม่ดูแลนักเรียนกันเลย หรือมัวทำอะไรกันอยู่นะ
อธิบายอย่างนี้ค่ะ ภาระงานของครูมีตั้งแต่ “ไม้จิ้มฟันยันจานดาวเทียม” งานเล็กระดับมดไปจนถึงงานใหญ่ระดับช้าง คุณครูจึงต้องเป็นผู้ที่มีทักษะรอบด้าน ตั้งแต่หมวดหมู่งานวิชาการ งานศิลปหัตถกรรม ลามไปถึงงานช่าง งานด้านจิตวิทยา และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อสนองนโยบายทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง
เริ่มจากภาระงานหลัก อันได้แก่ แผนการสอน วิจัยในชั้นเรียน ออกข้อสอบ วิเคราะห์ข้อสอบ สื่อการเรียนการสอน อยู่เวรประจำวัน (คุณครูผู้หญิงอยู่เวรกลางวัน ส่วนคุณครูผู้ชายอยู่เวรกลางคืน) การเข้าร่วมอบรมพัฒนาด้านต่างๆ อย่างน้อยเทอมละ 1-2 ครั้ง ส่วนคุณครูคนไหนที่โดนแจ๊คพ็อตรางวัลที่ 1 ก็จะได้ตำแหน่งคุณครูประจำชั้นไปด้วย นั่นหมายความว่างานหลักก็จะเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษาดูแลนักเรียน
ทั้งเรื่องผลการเรียน พฤติกรรม สุขภาพกาย สุขภาพจิต ตามมาด้วยภาระงานเอกสารต่างๆ ทั้งสมุดพก บัญชีเรียกชื่อ ระเบียนสะสม บันทึกภาวะโภชนาการ ยังไม่รวมตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ หัวหน้าสายชั้น ผู้รับผิดชอบชมรม และโครงการพิเศษที่ชุกชุมยิ่งกว่าดอกเห็ด ใครที่ได้รับหน้าที่ มีบทบาทสวมหัวโขนหลายหัว ก็จะต้องสลับสับเปลี่ยนกันขาขวิดเพื่อปิดงานให้ได้ตรงตามเป้าหมายและสัมฤทธิ์ผลตามตัวชี้วัด
ต่อมาคือภาระงานรองที่ยิ่งกว่างานหลัก ใครว่าเป็นคุณครูสบาย วันๆ สอนนักเรียนแล้วก็กลับบ้าน วันหยุดราชการก็ได้หยุด เสาร์-อาทิตย์ก็ได้หยุด แถมยังมีปิดเทอมอีก แต่ทั้งหมดมันดันเป็นวันหยุดที่ไม่ได้หยุดนี่สิคะ จากคุณครูต้องกลายร่างมาเป็น Event Planer จัดงานตามวันสำคัญต่างๆ ทั้งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญของไทย และวันสำคัญของสากล เช่น วันวิสาขบูชา วันลอยกระทง วันคริสต์มาส วันขึ้นปีใหม่ ร่ายยาวไปถึงวันวาเลนไทน์ วันตรุษจีน วันประชาธิปไตย วันเอดส์โลก ฯลฯ และวันอื่นๆ อีกมากมายตามแต่นโยบายโรงเรียน
ยังมีอีกสารพัดค่าย ทั้งค่ายลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด วันกีฬาสี วันเด็ก ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายภาษาไทย คุณครูแต่ละคนเหมาหมดทั้งบทพิธีกร พิธีการ สันทนาการ สถานที่ เครื่องเสียง จัดผ้า ตกแต่งเวที จัดดอกไม้ ซ้อมการแสดง แต่งหน้าทำผม ฯลฯ
ถ้าเกษียณอายุราชการแล้ว เรี่ยวแรงยังมีคงรับจัดอีเวนท์ได้สบายๆ
นอกจากนี้คุณครูบางคนยังได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการต่างๆ ตามนโยบายที่รับมาจากรัฐ หรือได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น โครงการแปลงผักการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีเพาะเห็ด ปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ ฯลฯ นี่ก็เพิ่งกลับมาจากรดน้ำแปลงเห็ดนะ
ชื่อเสียงโรงเรียนก็ทิ้งไม่ได้ค่ะ ต้องจัดคิวทำตารางส่งนักเรียนไปแข่งขันทักษะทางวิชาการ กีฬา ศิลปะ และแขนงต่างๆ ซึ่งมีตลอดทั้งปี และเราต้องพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดประจำวันเสมอๆ อยากให้ลองนึกภาพว่าตัวเองกำลังเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์อยู่ในสวนสนุกซักแห่งค่ะ
ขณะที่คุณครูนั่งรับประทานอาหารกลางวัน จู่ๆ เด็กก็วิ่งตื๋อมาบอกว่า เพื่อนทะเลาะต่อยตีกันในห้องน้ำหลังโรงเรียน ทำไงดี คุณครูก็ต้องรีบทิ้งช้อนทิ้งส้อม แล้วสี่คูณร้อยไปดูเหตุการณ์ทันที จากนั้นครูต้องกลายมาเป็นพยาบาลเบื้องต้น ก่อนจะสวมบทคนขับรถพานักเรียนไปโรงพยาบาล
เป็นนักไกล่เกลี่ย และนักสืบไปพร้อมๆ กัน จากนั้นก็ต้องโทรแจ้งผู้ปกครอง – เป็นอันหมดวัน ข้าวกลางวันไปกินโน่น 4 ทุ่ม
จนถึงบรรทัดนี้ อย่าเพิ่งกดปุ่ม ‘โกรธ’ กันนะคะ ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้อยากจะเรียกร้องว่าครูคืออาชีพที่ต้องทำงานแบกรับภาระของประเทศชาติหนักหนากว่าอาชีพอื่นๆ หรือป่าวประกาศปกป้องตัวเอง ว่าที่การศึกษาไทยยังไม่พัฒนานั้น มีสาเหตุจากภาระงานรองที่ถาโถม
สิ่งที่อยากจะบอกจริงๆ ก็คือ การพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยในระบบการศึกษานั้น คงจะฝากความหวังหรือมอบหมายให้ ‘ครู’ โรงเรียนหรือสถานศึกษาฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาไทยได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะการพัฒนาเด็กเยาวชนอนาคตของชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เชื่อเถอะค่ะ!
Happy Teacher’s Day สุขสันต์วันครูค่ะ
ครูเป็นมากกว่าคนคอยสอนหนังสือและคอนโทรลห้องเรียน ครูเป็นทุกอย่างให้เด็ก เป็นทุกอย่างในโรงเรียนจริง ครูบางท่านต้องควบทำธุรการหรือการเงิน ขณะเดียวกันยังต้องสอนหนังสือ 6 คาบต่อวัน บางโรงเรียนขาดแคลนครู ครูคนหนึ่งต้องสอนมากกว่า 1 วิชา ไม่ก็สอนกระโดดข้ามช่วงชั้น ที่สำคัญคือ สอนในวิชาที่ตนไม่ได้จบเอกนั้นๆ มาก็มี
นี่คือภาระหน้าที่ของครูไทยที่เราได้เจอ การมองปัญหาการศึกษาไทย โดยพุ่งปัญหาไปที่ครูอย่างเดียว คงไม่ถูกทั้งหมด ในเมื่อระบบมันค่อนข้างพังและมีความย้อนแย้งสูงแบบนี้ การจะเป็นครู ‘ที่ดี’ จึงค่อนข้างยาก
การสอนเด็กเป็นเรื่องง่าย แต่จะสอนให้เด็กห้องหนึ่ง (ที่มีมากกว่า 30 คน และแต่ละคนก็มีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน) ให้ได้รับประโยชน์จากคาบๆ หนึ่งให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าทำไม่ได้
ยิ่งมาเจอเด็กที่มีปัญหา ดื้อๆ แสบๆ แถมระบบยังไม่ซัพพอร์ตอีก เราจึงไม่แปลกใจเลยที่เห็นครูหลายท่านหมดไฟในการให้ ยิ่งมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ยิ่งลดทอนพลังที่ตั้งใจจะสอนตามแผนการสอนที่ออกแบบไว้ ความสนุกในการสอนเด็กๆ ก็ลดลงตามไปด้วย นานๆ ไปก็จะกลายเป็นความชินชาจนถูกกลืนเข้าระบบ สอนไปวันๆ เพราะเหนื่อย ปัญหาก็จะวนลูปแบบนี้ต่อไปเรื่อย
แต่ถ้าถามว่ามีครูที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครูแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ครู เหมือนคำข้างต้นไหม ก็ขอตอบว่ามี ถามว่าทำไมล่ะ คำตอบมันก็ย้อนกลับมาเรื่องระบบพวกนี้อีกอยู่ดี (เช่น ระบบราชการ)
ภาระงานที่ไม่เคยคิดว่าจะต้องเจอ จากการสอนที่โรงเรียนขยายโอกาส ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร โครงการ ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง Teach For Thailand’ คือภาระที่ต้องทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งนะครับ
วันหนึ่งในคาบเรียนที่ 5 มีนักเรียนชั้น ม.3 ทำเศียรครูในห้องดนตรีไทยตกและชำรุด นักเรียนคนนั้นกลัวมากว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหาย เขาร้องไห้ออกมา เวลาผ่านไปซัก 5 นาที เขาเริ่มลุกขึ้นมารำ ฟ้อนท่าต่างๆ และเริ่มพูดจาเสียงดังด้วยคำหยาบคาย
ครูและนักเรียนส่วนมากที่ยืนมองเหตุการณ์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผีเข้า” จากนั้น ความกลัวลามไปสู่นักเรียนชั้น ป.4 ที่รอเรียนวิชาดนตรีอยู่แถวนั้น เด็กๆ ทั้งกลัวและไม่เข้าใจเมื่อเห็นพี่ร้องไห้ โวยวาย ก็กลัวและร้องไห้ตาม ประกอบกับเพื่อนๆ ของนักเรียนคนนั้น เห็นเพื่อนเป็นอะไรไม่รู้ ท่าไม่ดี ก็ร้องไห้ตามกันไปด้วย ไปๆ มาๆ ร้องไห้กันระงมเกือบ 20 คน
ตัวผมเองและครูก็เข้าไปพูดคุยและเรียกสตินักเรียนกลับมา โชคดีมากๆ ที่วันนั้นมีนักจิตวิทยาปฏิบัติการท่านหนึ่งมาที่โรงเรียนพอดี พี่หมอท่านนั้นพูดว่า เดี๋ยวไปฉีดยาคลายเส้นเข็มเดียวก็หาย เท่านั้นเอง ผีทั้งหลายก็เริ่มออกจากตัวนักเรียนทีละคนๆ จนสุดท้ายพอจะปล่อยกลับบ้านเหล่าผีๆ ก็หายเป็นปลิดทิ้ง
ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้นักเรียนปิดทุกอย่าง ไม่รับอะไรเลย เพราะเขากลัวจริงๆ กลัวสถานการณ์ และกลัวว่าถ้าตัวเองทำอย่างนี้ เพื่อนจะว่ายังไง
ถ้าถามว่าครูต้องทำอะไรอีกบ้าง ที่ไม่เฉพาะงานสอน หลักๆ คือทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขารู้สึกว่าการเรียนสำคัญ นอกจากนั้นก็คือ
พยาบาล: ดูแลอุปกรณ์พยาบาล ทำแผล ล้างแผล จ่ายยา เนื่องจากว่าห้องพยาบาลของโรงเรียนตั้งอยู่ในตึกที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว โรงเรียนจึงปรับให้ห้องพยาบาล (ม.ต้น) มาอยู่ที่ห้องภาษาอังกฤษ โดยมีผมเป็นผู้ดูแล ทำเเผล ล้างแผล จ่ายยาสามัญ ให้กับนักเรียน
ที่ปรึกษา: ไปเยี่ยมบ้านนักเรียน พูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียน เพื่อสังเกตและเรียนรู้สภาพแวดล้อม ชุมชน ทำให้เข้าใจและไม่ตัดสินนักเรียนจากพฤติกรรมที่แสดงออก การได้ไปพูดคุยอย่างจริงใจกับผู้ปกครองนักเรียน ทำให้เห็นความใส่ใจและไม่ใส่ใจของผู้ปกครองเด็กที่สะท้อนมายังตัวเด็กด้วย
เป็นผู้ฟัง: นักเรียนในโรงเรียนผมส่วนมาก เติบโตมากับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความก้าวร้าว ความเด็ดขาด น้อยคนจะรู้ว่าชีวิตเขามีตัวเลือกอื่นอีกเยอะมากๆ นักเรียนเหล่านี้มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจมากๆ สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในแต่ละวัน คำพูด คำดูถูกต่างๆ ทำให้พวกเขาแกร่งและกล้ามากๆ
แต่ปัญหาคือ ทุกคนอัดทุกอย่างใส่พวกเขา บีบพวกเขาเข้าไปในกล่อง เพื่อให้เขาเป็นคนในแบบที่เขาไม่เคยเห็น ไม่ต้องการเป็น
ดังนั้น ผมจึงต้องฟังเรื่องราวของพวกเขา เรียนรู้ความต้องการของพวกเขา และพาพวกเขาไปเห็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็น ไม่เคยนึกถึง เพื่อให้เขาตระหนักว่ามีทางเลือกเหล่านี้อยู่ด้วย
ตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่โรงเรียนนี้มา ผมรับรู้ได้ว่าเด็กนักเรียนแต่ละคน ครูแต่ละคนมีเรื่องราว ที่มา และความสนใจต่างกันมากๆ ในความหลากหลายนั้นเอง หากเราจะไปยัดเยียดให้ไปในชุดความคิดเดียวเหมือนกันหมด ก็คงจะยากและไม่มีรสชาติใดๆ หากแต่เราสามารถส่งเสริมสิ่งที่เป็นความถนัด ชื่นชมความสนใจ ของแต่ละคนได้ โดยไม่สนใจเพียงว่าตัวเอง (ครู) จะมามอบอะไรให้ “นักเรียนที่มาเรียน และครูที่ไปสอนคงมีความสุขร่วมกันขึ้นอีกเยอะ”
ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คงตอบแทนอาจารย์ และคุณครูท่านอื่นไม่ได้หรอกครับ ว่าคนอื่นใช้เวลาว่าง นอกจากสอนหนังสือเพื่อทำงานอะไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นอาจารย์ประถม มัธยม เข้าใจว่าภาระหน้าที่อื่นๆ นอกจากการสอนก็ล้นมือ จนแทบไม่มีเวลาว่างแล้ว ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจจะดีหน่อย ตรงที่มีเวลาว่างมากกว่า แต่ก็ต้องใช้เวลาเหล่านั้นกับการทำวิจัย เขียนเปเปอร์น่ะครับ
และที่ครูทุกระดับในเมืองไทยต้องเจอคืองานเอกสารครับ ซึ่งฟังดูเหมือนเรื่องง่ายๆ แต่พอมาทำจริงนี่กินเวลาไม่น้อยเลย
ข้างบนนี่ตอบแบบทั่วๆ ไปนะครับ แต่ถ้าถามถึงตัวผมเอง เวลาว่างก็คงเขียนหนังสือ อ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจนอกเหนือจากงานสอนครับ และถ้าเป็นไปได้ ก็พยายามปรับเอาเรื่องนอกเหนือจากงานสอนเหล่านั้น เข้ามาใช้ในงานสอน ทำงานอดิเรกกับงานประจำให้มันใกล้เคียงกันที่สุดครับ
เมื่อก่อนเคยคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยคงมีแค่งานสอนนักศึกษา คิดค้น ออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และการทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่พอได้เข้ามาในบทบาทนี้พบว่า การเป็นอาจารย์ต้องทำงานได้แทบทุกอย่าง ซึ่งในเอกสารที่ระบุภาระงานขั้นต่ำของอาจารย์ตามประกาศของมหาวิทยาลัยระบุว่า
ต้องทำงานด้านวิชาการ คืองานสอน งานวิชาการ เขียนบทความหรือทำงานวิจัย ต้องทำงานบริการวิชาการคือการให้บริการทางวิชาการกับสาธารณะทั่วไป จัดอบรม จัดเวทีเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ต่างๆ ให้กับสังคม แล้วยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำอีกคือ งานพัฒนานักศึกษา จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม งานส่วนรวมต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากองค์กร และยิ่งถ้ามีตำแหน่งผู้บริหารหรือกรรมการในชุดต่างๆ ของหน่วยงานก็ต้องมีการประชุมเพื่อติดตามการทำงานของฝ่ายต่างๆ
นอกจากงานเหล่านี้แล้วยังมีระบบการประเมินคุณภาพตามภาระงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งต้องทำตามตัวชี้วัดต่างๆ ของทั้งหน่วยงานตนเอง ตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัย หรือของหน่วยงานควบคุมคุณภาพการศึกษาต่างๆ แล้วยังมีการทำตำแหน่งทางวิชาการ (ผศ. รศ.) เมื่อครบกำหนด ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็จะมีผลกับการต่อสัญญาจ้างอีก
อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเอาเข้าจริงๆ ก็ดูค่อนข้างอัตคัดพอสมควรเลยนะหากเทียบกับอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆ เพราะนอกจากสอน ทำวิจัย บริการวิชาการแก่สังคมแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยยังต้องทำงานแอดมินจำพวกเอกสารต่างๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ได้นำไปสู่การเรียนการสอนที่ดีหรือแม้กระทั่งได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ในทางวิชาการเลย
ทำเอกสารงบประมาณ เบิกจ่าย ทำโครงการให้ดูเว่อร์วังอลังการเพื่อให้ได้งบประมาณมากพอที่จะจัดกิจกรรม โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้เนี่ย การทำโครงการต่างๆ ของอาจารย์มันยากขึ้นเพราะระเบียบราชการมันรกรุงรัง เพื่อนผมที่อยู่ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ (ซึ่งออกนอกระบบไปแล้วด้วยซ้ำ) การเบิกกระดาษสักรีมนึงยังต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตเลย เนี่ย ไอ้งานพวกนี้มันช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการได้อย่างไร ใครมีคำตอบได้บ้าง
การบริหารหลักสูตร การทำประกันคุณภาพ ผมเข้าใจว่าในประเทศที่ศิวิไลซ์เขาก็มีนะครับ แต่ที่ผมไม่ทราบคือพวกเขาต้องผจญภัยกับเอกสารจำนวนมหาศาลหรือไม่ ผมควรจะใช้พื้นที่นี้บอกกล่าวให้สังคมได้เข้าใจนะครับว่า งานประกันคุณภาพทางการศึกษามันคือการตรวจงานเอกสาร ถ้าเอกสารมันว่าจริง มันก็จริงตามนั้น ดังนั้นความจริงก็คือสิ่งที่รายงานนั่นแหละครับ แล้วคนที่ทำก็คืออาจารย์นี่แหละครับ และไอ้การทำเอกสารต่างๆ เหล่านี้ก็ย่อมมีการอบรมครับ อบรมทุกอย่างเลย สัมมนาทุกอย่างเลย แต่การอบรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนก็มีนะครับ แต่มันเหมือนจัดไปให้มันครบๆ องค์ประกอบของการประกันคุณภาพน่ะครับว่ามหาวิทยาลัยมีการอบรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอน อาจารย์ก็ต้องงดสอนเพื่อมาอบรมน่ะครับ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมของมหาวิทยาลัยที่ผมมักจะเรียกว่า “กิจกรรมโป๊งๆ ฉึ่ง” คือบรรดากิจกรรมวันพ่อวันแม่กิจกรรมเปิดตึก กิจกรรมเปิดโครงการ กิจกรรมที่ต้องมีการแสดงสารพัด
อันนี้เป็นหนึ่งในภาระงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยครับ เขาเรียกกันว่า “การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” งานพวกนี้มีไว้ถ่ายรูปครับ เอาไว้ประเมินผลงานตัวเองในแต่ละปีว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง
เอาล่ะ ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้ ในเชิงปริมาณแล้วมันกินเวลาชีวิตมากกว่าการเตรียมการสอน การอ่านหนังสือ การทำวิจัยและการทำผลงานทางวิชาการอีกนะครับ ถ้าต้องทำให้ครบทุกอย่าง
ขอบคุณที่มา : https://thepotential.org/