โพสต์โดย : Admin เมื่อ 4 พ.ค. 2564 04:24:52 น. เข้าชม 166451 ครั้ง
วันที่ 30 เมษายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการปรับปฏิทินการรับนักเรียนสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษามากที่สุด
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สพฐ. ได้ปรับปรุงปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 (ฉบับใหม่กรณีเปิดเทอม 1 มิ.ย. 64) โดยปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้เลื่อนจากปฏิทินเดิม 2 สัปดาห์ ดังนี้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เลื่อนการจับฉลากและประกาศผล เป็นวันที่ 15 พ.ค. รายงานตัว-มอบตัววันที่ 16 พ.ค. มัธยมศึกษาปีที่ 1 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 22 พ.ค. คัดเลือกความสามารถพิเศษวันที่ 19 พ.ค. จับฉลากจากวันที่ 24 พ.ค. ประกาศผลภายในวันที่ 24 พ.ค. และมอบตัววันที่ 29 พ.ค. ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 23 พ.ค. คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 19 พ.ค. ประกาศผลภายในวันที่ 25 พ.ค. รายงานและมอบตัวพร้อมกัน วันที่ 30 พ.ค. โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษที่จัดสอนสำหรับเด็กพิการ/ผู้ด้อยโอกาส รับสมัครวันที่ 24-30 เม.ย. สอบ/คัดเลือก วันที่ 15-19 พ.ค. ประกาศผลภายในวันที่ 23 พ.ค. รายงานตัวและมอบตัวภายในวันที่ 29 พ.ค. ทั้งนี้ ผู้ที่ยังไม่มีที่เรียนสามารถยื่นความจำนงได้ในวันที่ 25-27 พ.ค. ประกาศผลวันที่ 29 พ.ค. และมอบตัววันที่ 30 พ.ค. 2564
ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมของการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่ง ศบค. เห็นด้วยในหลักการตามที่กระทรวงศึกษาธิการขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดพื้นที่สีแดง เป็น priority หรือลำดับความสำคัญแรก ๆ ที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะเมื่อเปิดเทอมแล้ว ครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มของผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจากการปฎิบัติงาน หากติดเชื้อขึ้นมา ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่นักเรียนและผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงนั้น จะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ครูมีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ตลอดจนสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนให้กับนักเรียนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นว่า อาจต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดูโควตาวัคซีนที่จังหวัดได้รับ และครูในพื้นที่กรุงเทพฯ ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน เพราะกรุงเทพฯอาจเป็นพื้นที่สีแดงจัด
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วันที่ 30 เมษายน 2564