นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รายงานให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบ เรื่องการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบทุจริตในระบบราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องถูกดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวทั้งสิ้น 31 ราย แบ่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 5 ราย โดยให้ออกจากราชการไว้ก่อน 1 ราย ให้ออกจากพื้นที่ 3 ราย ให้มาประจำส่วนราชการ 1 ราย ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สพท. 5 ราย ให้ออกจากราชการไว้ก่อน 2 ราย และให้ออกจากพื้นที่ 3 ราย ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา 14 ราย ให้ออกจากราชการไว้ก่อนทั้งหมด ตำแหน่งครู 1 ราย ให้ออกจากราชการไว้ก่อน และตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษา 5 ราย ให้ออกจากราชการไว้ก่อน 1 ราย และให้ออกจากพื้นที่ 4 ราย ทั้งนี้ ในส่วนที่เป็นอำนาจของเลขาธิการ กพฐ.ในการลงนามในคำสั่ง คือตำแหน่งผู้อำนวยการ สพท., รองผู้อำนวยการ สพท.นั้น ตนได้ลงนามแล้วเรียบร้อย ส่วนที่เหลือจะส่งให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการลงนามต่อไป
“การใช้มาตรการของ คสช.ครั้งนี้ ถือเป็นการล้างท่อ กรณีให้ออกจากราชการไว้ก่อน คือมีคำสั่งศาลว่ากระทำความผิดจริง หรือคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง สรุปโทษเพื่อเสนอคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบให้ลงโทษแล้ว ส่วนการให้ย้ายออกจากพื้นที่ คือผ่านการสืบสวนแล้ว มีข้อมูลชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่จะกระทำผิดจริง จึงให้ย้ายออกจากพื้นที่ไว้ก่อน และอยู่ระหว่างสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแต่ยังไม่สรุปผล ยืนยันว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้ง เพราะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบทุจริตในระบบราชการของ คสช.ของ สพฐ.มีเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธานขึ้นมาพิจารณาโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการถูกฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คนที่ถูกใช้คำสั่งตามมาตรการ คสช.ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทุจริตประพฤติมิชอบ กับทำผิดระเบียบพัสดุและระเบียบการเงินการคลัง จนทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยทั้ง 31 รายนี้ เป็นอำนาจการพิจารณาของ สพฐ.สำหรับส่วนในพื้นที่ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจาก สพท.และเตรียมจะนัดประชุมกับ ศธจ.เพื่อดำเนินการตามาตรการดังกล่าว” นายบุญรักษ์ กล่าว