โพสต์โดย : Admin เมื่อ 2 ม.ค. 2561 12:43:54 น. เข้าชม 166394 ครั้ง
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า โลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การทำงานต่างๆ จะใช้ทักษะเพียงศาสตร์เดียวไม่ได้ ต้องใช้หลายศาสตร์ร่วมกัน เพื่อที่จะตอบโจทย์โลก และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง การเรียนต้องเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ดังนั้น ตนมองว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาต้องปรับเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก แน่นอนว่าการผลิตกำลังคนเพื่อไปทำงานตอบโจทย์ประเทศต้องเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ไม่ได้หมายความว่าสาขาวิชาทางด้านสังคมไม่มีความสำคัญ เพราะจริงๆ แล้ว การเรียนการสอนสามารถบูรณาการร่วมกันได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ในการทำงาน ไม่ใช่เก่งอย่างเดียวแล้วจะทำงานได้สำเร็จ ต้องเก่ง และดี ฉะนั้น ทั้งวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ จะมาเติมเต็มในแง่ของความเป็นมนุษย์ ในเรื่องของ Soft Skill หรือทักษะด้านสังคมต่างๆ ต้องไปด้วยกัน เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกมามีความนุ่มนวลขึ้น สามารถสื่อสาร เป็นผู้นำ แยกถูกแยกผิด เป็นต้น ตรงนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำงานในอนาคต
“มหาวิทยาลัยต้องมองไปข้างหน้า เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เด็กเจเนอเรชั่นนี้มีความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม คนรุ่นใหม่ต้องการเรียนในสิ่งที่อยากจะรู้ เรียนเพื่อให้มีสมรรถนะ สามารถมีงานทำได้มากขึ้น จะได้ปริญญาหรือไม่ เขาไม่ได้สนใจมาก เอาแค่จบแล้วทำงานได้ ขณะเดียวกันระบบความคิดของผู้จ้างงานก็เปลี่ยน แนวโน้มมุ่งไปที่สมรรถนะในการทำงานของคน ไม่ได้มองว่า จบจากไหน เกรดเฉลี่ยเท่าไร หลายบริษัทรับคนเข้าทำงานไม่ได้ดูเกรดเฉลี่ย เพราะบางครั้งคนที่เกรดน้อยกว่า ออกไปทำงานประสบความสำเร็จมากกว่า มีให้เห็นจำนวนมาก” นพ.อุดม กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 30 ธันวาคม 2560 - 13:49 น.