โพสต์โดย : Admin เมื่อ 6 ธ.ค. 2560 11:17:35 น. เข้าชม 166477 ครั้ง
จากกรณีความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของ ผอ.สพท. ทำให้นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และรักษาการเลขาธิการสมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.บ.พ.ท.) รวบรวม 50,000 รายชื่อเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกข้อที่ 13 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 หากไม่รับข้อเสนอ จะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยตัวเอง โดยมีสมาชิก ส.บ.พ.ท.และองค์กรครูทั่วประเทศร่วมสมทบ โดยล่าสุดนพ.ธีระเกียรติ ยอมรับลูก เสนอนายกรัฐมนตรี แก้ไขข้อที่ 13 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2560 ขณะที่ประธานชร.ผอ.สพท.ยืนยันว่าต้องยกเลิกข้อที่ 13 เท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเสนอร่างแก้ไขฉบับของชร.ผอ.สพท.ประกบเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจ นั้น
ผู้อำนวยการโรงเรียนในจ.สุรินทร์ คนหนึ่ง กล่าวว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ศธ.โดนกระหน่ำปัญหาความขัดแย้งในกรณีคำสั่ง คสช.ที่19/60 ข้อ13 ลักอำนาจ มาตรา 53 ผอ.สพทไปให้ ศธจ.ทำให้การบริหารงานบุคคลระหว่าง ศธจ.กับ สพท.และสถานศึกษาเกิดปัญหายากที่จะแก้ไขได้และจะลุกลามต่อไปเรื่อยๆ เช่น 1.การเลื่อนขั้นเงินเดือนของครูครั้งที่ 1 สิ้นเดือนเมษายน-ตุลาคม ครูทุกคนได้รับแล้วนำไปต่อยอดแก้ปัญหาชีวิตได้ แต่ในปัจจุบัน บางจังหวัดได้เดือนกันยายน อย่างนี้จะทำให้ครูมีขวัญกำลังใจได้อย่างไร 2.การบรรจุแต่งตั้งน.ส.วนาลี ทุนมาก หรือครูแอนและน.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี หรือ ครูวัลย์ จ.ตาก ทำงานมา 5 เดือนแล้วไม่ได้เงินเดือน สุดท้าย กศจ.ไม่สั่งบรรจุ นี่คือเหตุอำนาจซ้ำซ้อนกัน 3.การชะลอการแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษา 7,000 แห่ง ทั่วประเทศ สถานศึกษาขาดผู้นำ รอคำสั่งศาลไม่ทราบว่ากี่ปี แต่อำนาจการแต่งตั้งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเพื่อประโยชน์ทางราชการ เป็นอำนาจโดยชอบของ ศธจ.แตะถ่วงดึงเรื่องสารพัดปัญหา ถ้าศธจ.คิดอย่างนี้ ไม่สมควรมาเป็นผู้นำทางการศึกษา 4.ศธจ.บางจังหวัดกลัวมากเกินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าตนเองมีอำนาจทำได้ แต่ไม่ทำ กลัวๆ อ้างว่ารอคำสั่งศาล การศึกษาเกิดการเสียหาย ครู/ผู้บริหารต้องแจ้งความดำเนินคดีกับศธจ.ฐานละเว้นมาตรา 157 และ 5.การขอวิทยฐานะครูเดิมอยู่ที่อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนรู้ผลแล้ว แต่ในปัจจุบันเป็นปียังไม่รู้ผล ใครอยากจะไปอยู่ด้วย
“จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากปัญหาการทำงานที่แท้จริงในระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา นายธนชน มุทาพร ประธานชร.ผอ.สพท.และนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และองค์กรครู ร่วมกันสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสพท.และสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้มีอำนาจแก้ไข นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ.ได้แถลงว่า เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดและกำลังจะแก้ไขให้ดีขึ้น โดยเตรียมจะเสนอนายกขอแก้คำสั่งคสช.19/60 ข้อ 13 ที่เกี่ยวข้องอำนาจให้ ผมสังเกตดูตั้งแต่นพ.ธีระเกียรติ ไม่หลุดโผ ครม.ประยุทธ์ 5 ดูท่าทีเปลี่ยนไปมาก ยอมรับฟังความคิดเห็นของครู ผู้บริหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่ยึดหลักฟังพวก 5 องค์กรหลักรายงานต่อท่าน แต่พวกนี้แฝงด้วยผลประโยชน์ของพวกพ้องไว้ เช่น เกิดศธภ./ศธจ. จึงทำให้ท่านไม่มีผลงาน และเป็นรัฐมนตรีที่ครูและนักเรียนจำชื่อรัฐมนตรีไม่ได้ การทำงานหรือตัดสินใจใดๆ ต่อไปนี้ ทุกครั้งขอให้ท่านได้นึกถึงนักเรียนตาดำๆ ครู/ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชนที่ทุ่มเทแรงใจ แรงกาย สติปัญญาเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติให้มากที่สุด ผู้อำนวยการโรงเรียน รายดังกล่าว กล่าว
นายมารุต อุปนิสากร ผู้อำนวยการสพป.มุกดาหาร กล่าวถึงกรณีศธ.จะเสนอแก้ไขข้อที่ 13 ของคำสั่งคสช. ที่ 19/2560 ว่า อำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง จะต้องคืนมาให้ผู้บังคับบัญชาโดยเร็ว แม้แต่การบริหารงานบุคคลระดับชาติ การลงนามในคำสั่ง ก็ยังให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ลงนาม ตัวอย่างของบอร์ด กคศ เรื่องของ สพฐ ที่ต้องผ่านบอร์ด กคศ เช่นเรื่องย้าย ผอ.สพท. รองผอ.สพท. วิทยฐานะผอ.สพท., รองผอ.สพท.ยังให้เลขาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ลงนาม ยังไม่ให้ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ลงนาม
นายสนอง สุดสะอาด ผู้อำนวยการสพป.นครราชสีมา เขต 6 กล่าวว่า ยืนยันว่าต้องยกเลิกข้อที่ 13 ของคำสั่งที่ 19/2560 โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะข้อ 13 ส่งผลกระทบในวงกว้าง จนเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค ข้ดแย้งกับพ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 5 เพิ่มขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หมวด 7 ไม่สนองต่อความต้องการของประชาชน สพป.นครราชสีมา เขต 6 เดือดร้อนจากคำสั่งนี้มาก ต้องเพิ่มเงิน เสียกำลังคน เสียเวลา ที่เสียไปกับการเพิ่มขั้นตอนตามข้อที่ 13 ทำให้ครูและนักเรียนได้รับผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้าตามข้อ 13 นี้มาก
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 6 ธันวาคม 2560 - 10:11 น.