โพสต์โดย : Admin เมื่อ 7 ธ.ค. 2560 14:57:20 น. เข้าชม 166422 ครั้ง
ความคืบหน้ากรณีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เตรียมเสนอแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 19/2560 ในข้อที่ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3)และ(4) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นของศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (มาตรา 53(3))และเป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียน (มาตรา 53(4))โดยรัฐมนตรีว่าการศธ. จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในสัปดาห์นี้นั้น
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า กรณีที่นพ.ธีระเกียรติ เตรียมเสนอหัวหน้าคสช.ให้แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/ 2560 ในข้อ 13 นั้น เพื่อปลดล็อกปัญหานี้ โดยมอบหมายให้นายการุณ ซึ่งกำกับดูแลกศจ. และตนในฐานะเลขาธิการ กพฐ.กำกับดูแล สพท. หารือร่วมกับเลขาธิการ ก.ค.ศ. และคณะทำงานด้านกฎหมาย ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง จะเสนอให้มีคณะกรรมการในจังหวัด 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาของจังหวัดซึ่งจะบูรณาการทุกภารกิจที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนทุกสังกัด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช)สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)และ 2.คณะกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลซึ่งจะให้ผอ.สพท.ทุกคนในจังหวัดร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัด จะเป็นประธานของทั้ง 2 บอร์ดดังกล่าว
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า กรณีความขัดแย้งเรื่องอำนาจตามมาตรา 53 (3) และ (4) ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ นั้น ในการเสนอแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.จะให้คืนอำนาจดังกล่าวให้ ผอ.สพท.และผอ.ร.ร.เป็นผู้ลงนามตามอำนาจหน้าที่ แต่การพิจารณาอนุมัติยังคงเป็นอำนาจของ กศจ. อย่างไรก็ตามหาก สพท.เห็นว่า กศจ.อนุมัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ สพท.ก็มีสิทธิไม่ลงนามได้ เป็นการคานอำนาจซึ่งกันและกัน เรียกว่าเป็นการใช้อำนาจคู่ เพราะฉะนั้นหากจะมีความเห็นที่แตกต่าง ก็จะต้องพูดคุยหารือกันในบอร์ดบริหารงานบุคคลให้ได้ข้อยุติก่อน เนื่องจากจะมีทั้ง 2 ฝ่ายร่วมเป็นกรรมการอยู่ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้การดำเนินการทุกอย่างรวดเร็วขึ้น
“การเสนอแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ครั้งนี้ เพราะรัฐมนตรีว่าการศธ. ได้เก็บข้อมูลมาแล้วว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และมีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ก็พบว่ามีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข ไม่เฉพาะปัญหามาตรา 53 เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น กรณี บอร์ด กศจ.ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ที่ผ่านมีหลายจังหวัดที่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในจังหวัดได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากมีบอร์ดใหญ่บอร์ดเดียว แต่ต้องดูแลทุกด้าน ทำให้ต้องเสนอแก้ปัญหาโดยการแยกเป็น 2 บอร์ด เพื่อให้เดินหน้าไปได้ คือ บอร์ดด้านการศึกษากับบอร์ดด้านบริหารงานบุคคล เพราะสิ่งที่เราคิด คือ เพื่อให้มีการพัฒนาไปกว่าเดิม และเพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ ที่ต้องใช้อำนาจคู่ในการบริหารงานบุคคล เพราะสพฐ. มีคนจำนวนมาก ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของ กศจ. ในการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย ลงโทษ การพิจารณาเลื่อนเงินเดือน แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อความคล่องตัว รวดเร็ว ก็ให้เป็นอำนาจของ สพท. แต่เพื่อไม่ให้ผอ.สพท. ใช้อำนาจเดี่ยว จึงต้องให้ กศจ. เป็นผู้อนุมัติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นการคานอำนาจเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลให้สังคมยอมรับ”นายบุญรักษ์กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 7 ธันวาคม 2560