โพสต์โดย : Admin เมื่อ 12 พ.ค. 2560 12:40:03 น. เข้าชม 166510 ครั้ง
ไปหาคำตอบกับ “ดร.พิษณุ ตุลสุข” ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวคุณภาพชีวิตคมชัดลึกออนไลน์” อธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู
วันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ดร.พิษณุ ตุลสุข ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค. เป็นประธานเปิด”การสัมมนาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา”และลงนามความร่วมมือ (MOU)บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กับประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครู (กลุ่มนำร่อง) สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 16 แห่ง
นัยว่าเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาหนี้สินครูกลุ่มที่ “วิกฤต” ซึ่งเป็นสมาชิก สกสค.และสหกรณ์ จากนี้ไปจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการจะไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อพิจารณา “ครู”ที่ยื่นความประสงค์เข้า “โครงการสวัสดิการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน” จากนั้นจะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการกลางพิจารณา หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 9 ข้อ ก็จะได้รับการอนุมัติ วันที่ 1 มิถุนายน สกสค.จะโอนเงินให้ไปใช้หนี้วิกฤติทั้งหมด
ว่ากันว่าปัจจุบันครูที่เป็นหนี้ทั่วประเทศทุกสังกัด ประมาณ 5 แสนคน คิดเป็นเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่ สกสค. จะช่วยเหลือครูอยู่ในภาวะวิกฤตก่อน คือครูที่กำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย กำลังจะถูกยึดทรัพย์ บังคับคดี ซึ่งมีประมาณ 700- 1,000 คน ซึ่งมีงบประมาณในการดำเนินเบื้องต้นนี้อยู่่ที่ 1,000 ล้านบาทเงินกู้ที่ให้ช่วยเหลือครู คิดดอกเบี้ย ไม่เกิน 3.5
ดร.พิษณุ ตุลสุข
คำถามคือว่า ทำไม!! ต้องช่วยครูในเมื่ออาชีพอื่นก็มีหนี้สินเป็นล้านเช่นกัน เพราะทุกคนก็ต้องมีบ้าน มีรถ มีภาษีสังคม ประเด็นนี้ ดร.พิษณุ อธิบายว่าเหตุผลที่ต้องช่วยครู เพราะครูเป็นอาชีพที่สอนเด็กซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ ถ้าครูไม่มีความสุข มีความกังวลกับหนี้สิน กังวลกับครอบครัว ก็จะส่งผลมาต่อการทำงานไม่มีความสุข ส่งผลต่อถึงเด็กผู้เรียน อุดมการณ์ของครูลดทอนลง ความสำคัญจำเป็นต้องให้ถ้าครูมีความสุขในการทำงาน เพราะความสุขของครูส่งผลต่อคุณภาพของเด็ก ซึ่งเป็นคุณภาพของประเทศ
ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการหยิบยกปัญหาหนี้สินครูมาพูดทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีท่านใด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านใด ก็ตาม เพราะว่าปัญหนี้สินครู ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน จริงๆแล้วการแก้ปัญหาหนี้สินของครูมีความพยายามทำมาโดยตลอดไม่ต่ำกว่า 30- 40 ปีแต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้แก้ไขปัญหาครบวงจร ไม่ได้วิเคราะห์ ถึงตัวแปรและองค์ประกอบที่ทำให้เกิดหนี้สินของครู
เพราะการแก้ปัญหาที่หนี้สินที่ผ่านมาคือการให้ครูกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ครูก็กู้ แต่ที่สุดก็ต้องไปกู้ที่อื่นมาโปะอีก เพราะรายรับไม่เพียงพอกับการที่ส่งเงินต้นและดอกเบี้ย ยิ่งการที่สกสค.เปิดให้กู้ด้วยการเอาเงินชพค.มาค้ำประกัน ที่ปล่อยกู้กันมาตั้งแต่ ชพค.1 จนถึงชพค.7 ในปัจจุบันทำให้ยอดครูที่มีหนี้วิกฤติเพิ่มเป็น 3-4 ล้านบาท เมื่อปี 2553 ที่่มีแค่ 2 ล้านเพิ่มขึ้นเพราะไปกู้เพิ่ม
อีกประเด็นคือครูบรรจุใหม่ที่บรรจุต่างพื้นที่จะมีค่าใช้จ่ายเยอะ บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ ฉะนั้นถ้าครูบรรจุใหม่ไม่ได้รับการแนะนำที่ดี ก็จะกู้สหกรณ์มาแต่งงาน กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียน ซึ่งกู้สหกรณ์อย่างเดียวไม่เพียงพอ การกู้ที่เดียวไม่พอเพราะครูบรรจุใหม่กู้ได้น้อย ตามอัตราส่วนตามระยะเวลาการเป็นสมาชิก ครูก็ต้องกู้สถาบันการเงินอื่นๆ ธนาคารก็ให้กู้ เพราะครูเป็นอาชีพที่รายได้ที่มีความมั่นคง ก็กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้ปล่อยกู้
“ถ้าเริ่มต้นศึกษาก็จะเข้าใจว่าปัญหาและสาเหตุของการหนี้สินครู เกิดจากครูกู้สถาบันการเงิน หักหนี้สินไม่พอ ก็เริ่มจะไปหาแหล่งเงินกู้ที่ใหม่ บัตรเครดิต กู้นอกระบบ ท้ายที่สุดก็เริ่มตึงมือ เข้าสู่ภาวะวิกฤต ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีอย่างเดียวต้องกู้หน้าโปะข้างหลังจนคนล้อเลียนว่าครูกู้หมด ไม่กู้แต่กับระเบิด เป็นคำพูดที่เจ็บปวด จึงต้องแก้ปัญหาหนี้ให้ได้ ” ดร.พิษณุ กล่าว
แต่การปัญหาไม่ใช่ว่าให้ครูกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่ต้องมีวิธีการดูแลครูตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นครู ให้ทักษะชีวิตในการบริหารเงินรายได้ตัวเอง รวมทั้งมีแผนชีวิตของตัวเอง ซึ่งเงือนไขที่ไม่เปิดช่องทางให้ไปกู้ใหม่ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่คิดว่าจะนำมาแก้ปัญหาหนี้สินครูได้
“ดังนั้นครูที่เข้าโครงการกับสกสค.จะไปกู้ที่ไหนอีกไม่ได้ ต้องมีแผนการในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยจะมีที่ปรึกษาการเงินคอยดูแล มีครอบครัวและผู้บังคับบัญชาสถานศึกษาที่สังกัดอยู่ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จะทำให้ครูที่เข้าโครงการมองเห็นอนาคตว่า เดือนที่ 1 เริ่มเข้าโครงการจะมีเงินหนี้ลดลง ทีปรึกษาจะ่ช่วยทำแผนระยะยาวไม่ต่ำกว่า 120-180 เดือนภายใน 10-15 ปีหนี้จะลดอย่างไร มีแผนเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ จะทำให้เห็นว่าในอนาคตจะมีเงินสะสมด้วย”
ฉะนั้นเมื่อตกลงเข้าร่วมโครงการแล้วสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสศ.)สกสค.ก็ปล่อยเงินกู้ให้ ครูที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งมีปัจจุบันสกสค.มีงบประมาณที่จะดำเนินการในโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะหักค่าดำเนินการไว้ 25 สตางค์ต่อเดือน จะทำให้มีเงิน 2.5 ล้านบาท
เงินจำนวนนี้จะนำไปส่งกองทุนพัฒนาครู จัดอบรมฝึกอาชีพ และพัฒนาศักยภาพครูเพิ่มขึ้นได้ ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ 6 เดือน 10 เดือนหรือ 1 ปี ก็ได้ เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างครบวงจรจริงๆ เกิดประโยชน์กับเด็กและแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
งานนี้ “ดร.พิษณุ” ต้องลุ้นเช่นกันแผนการลดหนี้เพิ่มรายได้ของครูกลุ่มวิกฤตจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่อย่างไร ซึ่งจะทำให้การมองหาแหล่งทุนมาดำเนินการในโครงการนี้ไปเป็นอย่างราบรื่นด้วยเช่นกัน
0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ qualitylife4444@gmail.com 0
ที่มา http://www.komchadluek.net/news/edu-health/276207