โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 ก.ย. 2563 12:16:23 น. เข้าชม 166784 ครั้ง
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอาชีพครูนั้นมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะสู้รบกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งทางคุณครูในต่างประเทศก็ประสบพบเจอมาเช่นกัน
ขอยกตัวอย่าง ออสเตรเลีย ที่คุณครูระดับประถมศึกษาเงินเดือนเริ่มต้นที่ 41,798. ดอลล่าห์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 94,1516 บาท ส่วนสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นที่ 39,183 ดอลล่าห์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 1,240,493 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 19 มีนาคม 2019)
อ่านมาถึงตอนนี้คุณครูอาจตื่นตาตื่นใจกับเงินเดือนที่มากมายมหาศาล งานหนัก ถ้าเงินเดือนมากเท่านี้ต่อให้ภาระหน้าที่ที่ล้นมือ การอบรมสัมนา หลักสูตรคูปองครูและนักเรียนที่ล้นห้องนั้น แค่ไหนก็ไม่หวั่นใช่ไหมครับ? แต่ถ้าลองนึกถึงค่าครองชีพในแต่ละประเทศที่กล่าวมา อาจต้องกลับมาดูใหม่ว่าเงินเดือนที่เราเห็นว่ามากนั้น จะเพียงพอกับการดำรงชีวิตในประเทศของเขาหรือไม่ อย่างที่พักแบบอพาร์ทเมนท์ในอเมริกา มีตั้งแต่ราคา 500 – 1,500 USD หรือประมาณ 16,xxx – 48,xxx บาท ค่าสาธารณูปโภค อย่างค่าไฟฟ้า แก๊ส น้ำ ขยะ และอื่นๆ สำหรับห้องขนาด 85 ตารางเมตร 112 USD หรือประมาณ 3,545.75 บาท
ดังนั้นในความคิดเราอาจมาก แต่สำหรับคุณครูในอเมริกาที่ต้องเจอค่าครองชีพสูงลิ่วแบบนี้ทุกเดือน ยังไม่พอครับ และจากผลการศึกษาใหม่พบว่า ครูประถมในสหรัฐ 93 เปอร์เซ็นต์มีระดับความเครียดสูง ครูหลายคนบอกว่ารู้สึก “อ่อนเพลียทางอารมณ์” ที่ต้องจัดการความต้องการของนักเรียนและทำให้ผลการเรียนดีขึ้น รวมไปถึงค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะปี 2018 มีครูจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริการ่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนครูลดลง 2.3 เปอร์เซ็นต์ (ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) ขณะที่เงินเดือนของบัณฑิตจบใหม่เพิ่มขึ้น 10.2 เปอร์เซ็นต์ ถึงอย่างนั้นครูก็ยังต้องควักเนื้อ 479 ดอลลาร์จ่ายค่าอุปกรณ์ในห้องเรียน และส่วนใหญ่คิดว่าต้องหารายได้เสริม
ส่วนประเทศไทยเพิ่งมีการปรับเลื่อนเงินเดือนครูแบบใหม่เมื่อไม่นานมานี้ โดยเปลี่ยนจากระบบขั้น เป็นระบบเปอร์เซ็นต์ตามแบบข้าราชการในหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งฐานเงินเดือนเริ่มต้นจะอยู่ที่ 15,050 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับเงินเดือนสำหรับบัณฑิตจบใหม่ แต่ก็พ่วงมาด้วยสวัสดิการจากหน่วยงานต่างๆที่มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ รวมไปถึงการเบิกค่าเล่าเรียนสำหรับลูก ซึ่งถือว่าสวัสดิการส่วนนี้ยังทำให้คุณครูยังเบาใจอยู่มาก แต่มีคุณครูไม่น้อยที่ยังมีความเห็นว่ายังไม่พอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งไทยเราตอนนี้ค่าครองชีพสูงเป็นอันดับสองของอาเซียน) และต้องหารายได้พิเศษเพิ่ม เมื่อรายได้สวนทางกับค่าครองชีพย่อมเกิดความท้อแท้หมดกำลังใจในการสอน ดังนั้นผลกระทบจะไม่จบอยู่ที่คุณครูฝ่ายเดียว ย่อมตกกับนักเรียนเหมือนเป็นโดมิโนอย่างแน่นอน
ก็ได้แต่หวังจากใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าปากท้องของคุณครูบ้าง แม้สักนิดก็ยังดี เพื่อให้คุณครูมีกำลังใจในการสอนต่อไปครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.data.oecd.org