โพสต์โดย : Admin เมื่อ 11 เม.ย. 2564 12:13:37 น. เข้าชม 166557 ครั้ง
เป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกรอบ สำหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับล่าสุด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่กำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ จากปัจจุบันใช้ ผู้อำนวยการโรงเรียน มาเป็น หัวหน้าสถานศึกษา และเปลี่ยนจาก ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู พร้อมกับยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา
ส่งผลให้ในอนาคตผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน หรือหัวหน้าสถานศึกษา ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตสำหรับผู้บริหาร ขณะที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ขานรับทันที ยกร่างมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหาร
สถานศึกษาใหม่ เปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโทสาขาอื่น หรือจบปริญญาตรีที่มีประสบการณ์สอนและการบริหาร เข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษาได้…
ทำให้เกิดแรงต้านจากคนในแวดวงการศึกษาบางกลุ่มอีกครั้ง หลังเคยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันมาแล้ว ที่เสนอให้ใช้ชื่อตำแหน่ง ครูใหญ่ แทน ผู้อำนวยการโรงเรียน และเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็น ใบรับรองความเป็นครู กระทั่งกฤษฎีกาตีตก ส่งกลับให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มกระบวนการใหม่
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะทำให้ครู ผู้บริหาร และคนในแวดวงแม่พิมพ์ รู้สึกว่าการปรับคำเรียกดังกล่าวเป็นการ ลดทอน ศักดิ์ศรีความเป็นครู ซึ่งถูกยกให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ขณะเดียวกันยังกังวลประเด็นสอดไส้ ที่จะส่งผลให้สิทธิประโยชน์ที่เคยได้ เคยมี ในปัจจุบัน หดหายในอนาคต
มองกันไปถึงขั้นว่า รัฐบาลไม่จริงใจ ตั้งธง ที่จะลดศักดิ์ศรี ลดคุณค่าความเป็นครู…
พร้อมประกาศเคลื่อนไหว หากยังเดินหน้ากำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายการศึกษาชาติอีก !!
นายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) บอกชัดว่า ไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็น หัวหน้าสถานศึกษา โดยย้ำว่า เรื่องนี้ทางสมาพันธ์คัดค้านตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้ตำแหน่ง ครูใหญ่ เพราะเป็นการลดศักดิ์ศรี ลดสถานะทางสังคม แม้จะเปิดช่องให้เปลี่ยนคำเรียกอื่นได้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …
ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ กำหนดให้เรียกชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กฎหมายลูกจะต้องออกกฎ หรือระเบียบให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ก็ตั้งแง่ว่าการเปลี่ยนมาใช้ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครูแทนใบอนุญาตนั้น อาจเปิดช่องให้คนที่ไม่ได้เรียนครูเข้ามาสอนได้ แล้วคนเหล่านี้จะมี จรรยาบรรณวิชาชีพ หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนขาดความเชื่อมั่นต่อครูในอนาคต
ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหา วิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) บอกไม่ติดใจกรณีที่เปลี่ยนใบอนุญาตเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู หรือเปลี่ยนมาใช้ชื่อตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา แต่กังวลว่าคำเหล่านี้อาจทำให้ครูไม่มีความเชื่อมั่นในวิชาชีพ เพราะคิดว่าเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นครู ทั้งชื่อใบรับรอง และตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันว่าไม่กระทบสิทธิที่จะได้รับ แต่กระทบความเชื่อมั่นแน่นอน ดังนั้น อยากให้ถอยและปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่
“การทำสิ่งใดก็ตามต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่น และเกิดการยอมรับ ยกเว้นมีเจตนาจะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งและใบรับรองเพื่อลดเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ” นายอดิศรกล่าว
ส่วนการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ไม่ต้องมีใบอนุญาตผู้บริหารสถานศึกษา และเปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโททุกสาขา หรือผู้ที่จบปริญญาตรีแต่มีประสบการณ์สอนและการบริหาร เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยและพยายามต่อสู้ในประเด็นนี้ในแวดวงวิชาการมานาน จากประสบการณ์บริหารพบว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทางการบริหาร เพราะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตเพียงใบเดียว ก็สามารถขึ้นเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลได้
การกำหนดให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร ส่งผลให้ครูต้องไปเรียนปริญญาโทบริหารการศึกษา กลายเป็นสิ่งที่พะรุงพะรัง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ต้องยกเลิก เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาไม่ได้ชี้ชัดว่าคนที่เรียนบริหารการศึกษาหรือคนที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบริหารจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะบริหารโรงเรียนต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะหน้าที่หลักของผู้บริหาร
โรงเรียน คือการบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอน ดังนั้น ต้องให้คนที่มีประสบการณ์ด้านการเป็นผู้สอนที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ ให้ผู้ช่วยและรองผู้อำนวยการที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาก่อน เข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนทักษะด้านการบริหารคน ด้านการประสานงาน จะต้องเติมเข้ามาในภายหลัง นายอดิศรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตทางด้านบริหารจะสามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จ แต่กลับเปิดช่องให้สถาบันการศึกษาแห่เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา แล้วทำมาหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน คนแห่เรียนเพราะจบง่าย และรอสอบผู้บริหารกันอย่างเดียว แทนที่จะทำหน้าที่สอน ทำงานด้านวิชาการ วิเคราะห์หลักสูตรให้เชี่ยวชาญ เป็นการบิดเบือนโครงสร้างการเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษามายาวนาน
เท่าที่ดูจากข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ยังไม่พบเรื่องใดที่เชื่อมโยงกับ คุณภาพ การศึกษา หรือตัว ผู้เรียน
ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ ถึงวันนี้ใช้เวลายกร่างใหม่ ปรับปรุงจากฉบับเดิม นับเวลารวมไม่ต่ำ 4 ปี สาระสำคัญคงไม่ใช่มีแค่การ ปรับชื่อ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือใบอนุญาตเท่านั้น
แต่หัวใจหลักคือ คุณภาพ ที่ตีความหมายกว้างไปถึงคุณภาพหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน นักเรียน ครู ฯลฯ ที่ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
คงจะเป็นการดี หากทุกฝ่ายมองที่เป้าหมายหลักคือ คุณภาพการศึกษา ที่ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง ไม่เสียเวลามาถกเถียงประเด็นยิบย่อยที่เกี่ยวกับ ผลประโยชน์ ของตัวครูและผู้บริหาร จนกลายเป็นข้อขัดแย้ง ถ่วงให้กฎหมายการศึกษาฉบับสำคัญต้องล่าช้าออกไปอีก…
เพราะหากทะเลาะกันจนทำให้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่ทันสมัยประชุมนี้ ตามที่รัฐบาลส่งสัญญาณมา กฎหมายลูกซึ่งสำคัญไม่แพ้กันอย่างร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … คงไม่มีวันคลอด
ผลกระทบมากที่สุดคือ คุณภาพการศึกษาชาติ และคุณภาพผู้เรียน ที่ต้องรอกันต่อไป
ดังนั้น หากเรื่องใดไม่ใช่สาระสำคัญก็ไม่ควรเสียเวลางัดข้อ หรือเล่นแง่กัน
ควรมุ่งประโยชน์ และคุณภาพการศึกษาของส่วนรวมเป็นหลัก มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว
เพราะ ศักดิ์ศรี ของครู หรือผู้บริหารสถานศึกษา ควรจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถ มากกว่า
แค่ ชื่อเรียกตำแหน่ง ที่คงไม่สามารถลดทอนศักดิ์ศรี หรือคุณค่า ของใครได้ !!