โพสต์โดย : Admin เมื่อ 7 มิ.ย. 2561 22:14:29 น. เข้าชม 166404 ครั้ง
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการตรวจสอบทุจริตโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา หลังจากมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอการจัดอาหารกลางวันของ ร.ร.บ้านท่าใหม่ ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ให้นักเรียนชั้นอนุบาลกินเส้นขนมจีนกับน้ำปลา ว่า ตามที่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ได้โยกย้าย ผอ.ร.ร.ท่าใหม่ออกนอกพื้นที่ และต้นสังกัดในระดับพื้นที่คือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุราษฎร์ธานี เขต 2 ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ.ได้สั่งการให้ตนลงพื้นที่ไปช่วยดูแลในเรื่องดังกล่าวด้วย ดังนั้นในวันที่ 8 มิ.ย.ตนจะลงพื้นที่ ร.ร.บ้านท่าใหม่ จากนั้นจะสุ่มตรวจสอบโรงเรียนต่างๆ ตลอดทั้งสัปดาห์หน้า
อ่าน อาหารกลางวันโรงเรียน! เด็กน้อยกินขนมจีนคลุกน้ำปลา แตงกวาแกล้มชิ้นเดียว
อ่าน เผย! “อาหารกลางวัน” ของเด็กๆหลังเด้งผอ. กับข้าว-ขนมหวาน มีแต่ของดี
อ่าน อาหารกลางวัน ทำพิษ ศึกษาจังหวัด แจง เด็กกินขนมจีนคลุกน้ำปลา ชี้สั่ง ผอ.รร. ออกนอกพื้นที่แล้ว!
ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้ รับทราบว่าทางสำนักงานปลัด (สป.) ศธ.สั่งการให้ ศธจ.ทุกจังหวัด มอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ ลงพื้นที่สุ่มตรวจเรื่องอาหารกลางของโรงเรียนภายในจังหวัด ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศสอดส่องเรื่องนี้แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ทราบมาว่าอาหารกลางวันในโรงเรียนมีปัญหามานานแล้ว โดนกรณีล่าสุดนี้พบว่าเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) โอนงบประมาณอาหารกลางวันเข้าระบบการเงินของโรงเรียนแล้ว ผู้อำนวยการคนดังกล่าวได้ใช้อำนาจผู้บังคับบัญชานำเงินจำนวนนั้นมาถือเองทั้งหมด และเป็นผู้เลือกซื้อวัตถุดิบำมาให้กับแม่ครัวประกอบอาหารทุกวัน ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วควรจะต้องมีกรรมการทำหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อถ่วงดุลอำนาจไม่ให้เกิดการทุจริต
“ผมคิดว่าจะเสนอมาตรการการกำหนดเมนูอาหารล่วงหน้าเป็นช่วงสัปดาห์ เพื่อที่จะให้ครู เด็ก ผู้ปกครอง สามารถรับรู้และช่วยกันตรวจสอบได้ แม้ขั้นตอนนี้โรงเรียนหลายแห่งคงปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ก็ต้องกำชับให้ดำเนินการอย่างรัดกุม ซึ่งนอกจากจะเกิดที่ จ.สุราษฎร์ธานี แล้ว ผมยังได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนใน จ.พิจิตร ดำเนินการในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้นคงต้องตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นอย่างไร สำหรับกรณี ร.ร.บ้านท่าใหม่นี้ ยังพบประเด็นส่อไปในทางทุจริตอีก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือกรณีที่โรงเรียนได้รับงบฯ ปรับปรุงไฟฟ้า ปี 2560 ประมาณ 380,000 บาท ซึ่งในรายละเอียดระบุชัดเจนว่าต้องมีเสาไฟฟ้าทั้งหมด 8 ต้น แต่เมื่อเสร็จสิ้นโครงการกลับมีเสาไฟฟ้าเพียง 6 ต้น
เรื่องต่อมาคือการทำถนนคอนกรีต 100 เมตรภายในโรงเรียน ปี 2560 ใช้งบฯ อุดหนุนรายหัววงเงิน 100,000 บาท แต่เมื่อดูในรายละเอียดกลับพบว่ามีการใช้เงินทั้งหมด 4 รายการ ประกอบด้วย เงินอุดหนุนรายหัว เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานรายหัวเบิกเพิ่มเติม เงินรายได้สถานศึกษาจากการทอดผ้าป่า และเงินรายได้สถานศึกษาอื่นๆ ซึ่งรวมแล้ว รวมทั้งสิ้น 205,366 บาท และเมื่อคณะกรรมการสืบฯ ตรวจสอบเอกสารพบว่า ไม่มีการทำระบบจัดซื้อจัดจ้างในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเลคทรอนิกส์ (e-GP) อย่างถูกต้อง แต่ใช้วิธีจ้างผู้รับเหมามาดำเนินการส่วนตัว อีกทั้งยังมีใบเสร็จรับเงินเพียง 3 ใบเท่านั้น ส่อเค้าทุจริตอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากผมตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลความผิดชัดเจน ผมจะอาศัยมาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้ผู้อำนวยการรายนี้ให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที” พล.ท.โกศล