กรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ชื่อว่า “M Bowornpat Krutthamat” ได้เผยแพร่การนำไอเดียมาออกแบบปกหนังสือเรียนสะท้อนสังคม โดยผู้ใช้รายนี้ได้ระบุข้อความว่า “การออกแบบเซตภาพประกอบของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชา special project in communication design หัวข้อ การเปลี่ยนแปลง การทดลองออกแบบ ปกหนังสือเรียน ถ้าหากหลักสูตรการเรียนการสอนอิงตามพฤติกรรมของผู้เรียนในปัจจุบัน (ภาพหรือเนื้อหาที่ใช้เพื่อเป็นสื่อประกอบการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาอ้างอิงถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง)” นั้น
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่นักศึกษานำประเด็นในสังคมในปัจจุบันเข้ามาทำเป็นหนังสือเรียน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่นักศึกษาทำมา สำหรับตนนั้นมองว่าบางเรื่องสะท้อนสังคมจริง แต่หนังสือบางเรื่อง เช่น หนังสือไสยศาสตร์ หนังสืออนาถศิลป์ ต้องย้อนกลับมาดูใหม่ว่า การออกแบบสร้างสรรค์หรือไม่ ทำให้เกิดความดีงามต่อสังคมหรือไม่ ในความคิดตนหนังสือเหล่านี้สร้างความหดหู่ต่อสังคมปัจจุบันมากกว่า
“แน่นอนว่าสังคมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ควรพูดถึงความดีงามของประเทศ เช่น เทคโนโลยี วัฒนธรรมที่ดีงาม ทำไมไม่ช่วยจรรโลงสังคมปัจจุบันบ้าง สำหรับ สพฐ. มีมาตรฐานและมีหลักเกณฑ์ในการประเมินหนังสือเรียน ทั้งของเอกชนและของสพฐ. เอง คือ ต้องสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง ไม่สุ่มเสี่ยงหรือส่อในทางที่ทำให้เสื่อมเสีย ต้องเคารพถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คือเกณฑ์หลักในการทำหนังสือของ สพฐ.”น.ส.นิจสุดา กล่าว
น.ส.นิจสุดา กล่าวต่อว่า ภาพประกอบเช่นเดียวกัน สพฐ. คำนึงและพิจารณาภาพประกอบทุกภาพ เพราะถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ไปกระทบบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงเห็นว่าในหนังสือเรียนทุกเล่มต้องใช้ภาพวาดทั้งหมด แม้แต่ภาพวาดด้านวรรณคดี และวรรณกรรมต้องไปขอซื้อลิขสิทธิ์มาจากนักวาด ทั้งหมดนั้น คือหลักการในการทำหนังสือ ภาพประกอบทุกภาพต้องมีองค์ประกอบและต้องไม่ตกเกณฑ์เหล่านี้ ยืนยันว่า สพฐ.พิจารณาทุกขั้นตอน ตั้งแต่หน้าปก ปกใน ตัวอักษรในการเรียน ที่ต้องไม่เท่ากัน ขนาดตัวอักษรต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละช่วงวัย แต่ละระดับชั้น