โพสต์โดย : Admin เมื่อ 2 พ.ย. 2560 12:55:45 น. เข้าชม 166419 ครั้ง
สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เปิดข้อมูลยังไม่หมดปี 60 มีผู้ขอคำปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อมกว่า 1.8 หมื่นคน เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 37 มีผู้อายุต่ำกว่า20ปี ถึงร้อยละ 17 พร้อมเผยพบข้อมูลโรงเรียน ครู ผู้บริหาร ยังไม่ค่อยมีท่าทีให้การช่วยเหลือเด็กที่ท้องไม่พร้อม จี้ศธ.ออกแนวปฏิบัติและปรับทัศนคติครูให้เป็นผู้ช่วยเหลือ ไม่ใช่ผู้ซ้ำเติมปัญหาให้เด็ก
วันนี้(2พ.ย.) ที่ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น.ส.ธิติพร ดนตรีพงษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวในการแถลงข่าว “เด็กที่ท้องในวัยเรียน อยู่ในวิกฤติ สถานศึกษาหยุดซ้ำเติม” ว่าในรอบปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีผู้โทรเข้าสายด่วน 44,416 ราย เพื่อปรึกษาเรื่องเอดส์ ร้อยละ 58 และเรื่องท้องไม่พร้อม ร้อยละ 41.67 หรือ 18,507 ราย ซึ่งเรื่องท้องไม่พร้อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 37
น.ส.ธิติพร กล่าวต่อไปว่า จากสายปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมเป็นคนตั้งท้องแล้ว 10,870 คน โดยเป็นผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงร้อยละ 17 และยังพบว่าร้อยละ 57 ของคนที่ท้องแล้วไม่ได้คุมกำเนิดเลย สาเหตุจากไม่ได้คิดว่าจะมีเพศสัมพันธ์ หรือเชื่อว่ามีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวไม่ทำให้ท้อง การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด ขาดทักษะ หรืออำนาจต่อรองน้อยกว่าคู่ ขณะที่ร้อยละ 42 คุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำ เช่น การหลั่งนอก ยาคุมฉุกเฉิน หรือการนับหน้า 7 หลัง 7 ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าวัยรุ่นที่ท้องมีแนวโน้มจะบอกแม่มากที่สุด แต่ไม่เลือกที่จะปรึกษาครู และก็มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง เพราะไม่ต้องการให้เสียใจ จึงจัดการชีวิตด้วยตัวเอง ดังนั้นหากพ่อแม่ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะรับฟังและอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าปัญหาจะหนักเพียงใด เด็กก็พร้อมที่จะปรึกษา และมีทางออกในชีวิตที่ปลอดภัยได้
นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานศึกษาไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะช่วยเหลือเด็กที่ท้องไม่พร้อม แต่กลับมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนต่อ แม้พ่อแม่จะพยายามทำให้ลูกได้เรียน หรือเด็กต้องการเรียน แต่เด็กหลายคนกลับถูกกระทำจากโรงเรียน คือ ให้ออก ย้ายที่เรียน หรือพักการเรียน เป็นต้น ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องออกแนวปฏิบัติ ได้แก่ 1. ห้ามไล่เด็กออก หรือให้ย้ายโรงเรียน โดยที่เด็กหรือผู้ปกครองไม่สมัครใจ 2.การวางแผนเรียนต่อเป็นสิทธิของนักเรียน โดยโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับที่นักเรียนต้องการ 3.มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เป็นมิตร เป็นความลับ และเป็นประโยชน์กับเด็กมากที่สุด และ 4.ผู้บริหารสถานศึกษาควรทำความเข้าใจกับทัศนคติของครูว่าเด็กกำลังเผชิญปัญหา ครูไม่ใช่เป็นผู้ซ้ำเติม แต่ครูต้องเป็นผู้มีบทบาทช่วยเหลือ ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะยื่นข้อเสนอถึงศธ.ต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560 เวลา 14.47 น.