โพสต์โดย : Admin เมื่อ 9 พ.ค. 2560 15:25:34 น. เข้าชม 166546 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค(คปภ.)เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการยกเว้นการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เพื่อรองรับการจัดบุคลากรลงกรอบอัตรากำลังในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการเกลี่ยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนด เปลี่ยนตำแหน่งมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติดังกล่าว สำนักบูรณาการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้มีบันทึกข้อความ ซึ่งลงนามโดยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดศธ. ถึงเลขาธิการคุรุสภา ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภานำเสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภา พิจารณาให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งครูที่ได้รับการพิจารณาเกลี่ยไปดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ในสำนักงานศธจ.และยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ในสำนักงานศธจ.เพื่อช่วยเร่งรัดขับเคลื่อนงานของสำนักงานศธจ.ได้ โดยยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด ซึ่งหลังจากคปภ.มีมติ และมีหนังสือไปถึงเลขาธิการคุรุสภาให้ดำเนินการดังกล่าวทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เป็นธรรมในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ที่ยกเว้นให้บุคลากรอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ มาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้
นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า มติ คปภ.ออกมาเช่นนี้ เนื่องจากศึกษานิเทศก์ก็มีความจำเป็นในสำนักงาน ศธจ. จึงมีการขอรับโอนศึกษานิเทศก์จากเขตพื้นที่การศึกษามา โดยให้แจ้งความประสงค์มาด้วยความสมัครใจไม่บังคับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้เปิดโอกาสให้ครูที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์เข้ามาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วครูที่จบปริญญาโททางการศึกษาสาขาใดก็ได้สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ได้เลย อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้เข้าประชุมคณะกรรมการคุรุสภาที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธาน วันที่ 15 พฤษภาคมนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 9 พฤษภาคม 2560
ด้านเดลินิวส์ ได้นำเสนอข่าวนี้ ดังนี้
มีโวย..คปภ.ให้ครูนั่งศึกษานิเทศก์ในศธจ.
หลังคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค(คปภ.) เปิดทางให้ครูเปลี่ยนตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์ใน ศธจ.ได้ โดยเสนอให้คุรุสภายกเว้นคนที่ไม่มีตั๋วเข้าไปทำหน้าที่ได้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมขึ้นแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค(คปภ.)เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการยกเว้นการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เพื่อรองรับการจัดบุคลากรลงกรอบอัตรากำลังในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการเกลี่ยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนด เปลี่ยนตำแหน่งมาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการรองรับการจัดบุคลากรลงกรอบอัตรากำลังในสำนักงาน ศธจ. ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ เพื่อช่วยเร่งรัดขับเคลื่อนงานของ ศธจ.ในระยะเริ่มแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติดังกล่าวสำนักบูรณาการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้มีบันทึกข้อความ ซึ่งลงนามโดย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.ไปถึงเลขาธิการคุรุสภา ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภานำเสนอต่อคณะกรรมการคุรุสภา พิจารณาให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งครูที่ได้รับการพิจารณาเกลี่ยไปดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ใน ศธจ.และยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ใน ศธจ.เพื่อช่วยเร่งรัดขับเคลื่อนงานของ ศธจ.ได้ โดยยังไม่มีใบอนุญาตฯศึกษานิเทศก์ตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด ซึ่งหลังจาก คปภ.มีมติดังกล่าวทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เป็นธรรมในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ที่ยกเว้นให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตฯศึกษานิเทศก์ มาดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ อาจเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก ไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติตามที่เคยปฏิบัติมาด้วยความยากลำบาก
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า มติ คปภ.ออกมาเช่นนี้ เนื่องจากศึกษานิเทศก์ก็มีความจำเป็นใน ศธจ. จึงมีการขอรับโอนศึกษานิเทศก์จากเขตพื้นที่การศึกษามา โดยให้แจ้งความประสงค์มาด้วยความสมัครใจไม่บังคับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้เปิดโอกาสให้ครูที่ไม่มีใบอนุญาตฯศึกษานิเทศก์เข้ามาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วครูที่จบปริญญาโททางการศึกษาสาขาใดก็ได้สามารถขอใบอนุญาตฯศึกษานิเทศได้เลย เพียงแต่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย อย่างไรก็ตามที่ครูไม่ได้ขอใบอนุญาตฯศึกษานิเทศก์ไว้เพราะระยะแรกส่วนใหญ่ไม่คิดอยากจะเป็นศึกษานิเทศก์
"ช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ คปภ.คิดว่า ถ้าจะให้มีศึกษานิเทศก์ใน ศธจ.เพียงพอ จะต้องให้คุรุสภาผ่อนผันให้ข้าราชการครูมาปฏิบัติหน้าที่ก่อนในระยะแรก ซึ่งไม่ใช่การยกเว้น โดยจะนำเข้าประชุมบอร์ดคุรุสภาในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ มล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศธ. ประธานที่ประชุม คปภ.ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ถ้าใครจะมาเป็นศึกษานิเทศก์ใน ศธจ.จะต้องดูหน่วยงานต้นสังกัดด้วยว่าขาดแคลนครูหรือไม่ เพราะถ้าขาดแคลนก็จะกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก ดังนั้นหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องพิจารณาก่อนจะโอนให้ ศธจ. ไม่ใช่ใครสมัครใจมาแล้วจะมาได้ทันที แต่ถ้าโรงเรียนไหนมีครูเกินอยู่แล้วไม่กระทบก็จะได้การพิจารณาเป็นอันดับแรก”ดร.สมศักดิ์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2560 เวลา 17.11 น.
ขอบคุณ เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม