โพสต์โดย : Admin เมื่อ 21 ธ.ค. 2559 08:03:01 น. เข้าชม 166502 ครั้ง
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นายพิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า เร็ว ๆ นี้สกสค. จะเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภาพรวม โดยจะขอให้นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการศธ. ออกนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างครบวงจร โดยจะขอให้ออกมาตรการให้ผู้บังคับบัญชามีความรับผิดชอบต่อการกู้ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามลำดับขั้น โดยให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจในการอนุมัติวงเงินกู้ให้กับครู หรือหาดครูต้องการกู้มากกว่าวงเงินที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจ ให้เป็นอำนาจของผู้สำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้อนุมัติ นอกจากนี้ สกสค. ยังยกร่างระเบียบการจัดสวัสดิการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคคลากรทางการศึกษาแบบครบวงจร โดยที่ผ่านมาได้มอบให้ผู้อำนวยการสกสค.จังหวัด ไปสำรวจ ครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤตในจังหวัดของตนเอง และเรียงลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งรุ่นแรกให้จังหวัดละประมาณ 10 คน เพื่อเป็นการนำร่อง
ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อแต่ละจังหวัดได้รายชื่อและตัวเลขครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้แล้ว ประมาณ วันที่ 13 มกราคม สกสค.จะจัดให้มีการชี้แจงเงื่อนไข กติกาต่าง ๆ ที่จะระบุไว้ในสัญญาการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีหลักการสำคัญใน 3 ข้อ คือ1. ครูจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยสกสค.จะเจรจากับสถาบันการเงินไม่ปล่อยก็ให้กับครูเหล่านี้อีก 2.ต้องมีวินัยทางการเงินโดยจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย และ3.ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น
“ต้องรอข้อมูลการสำรวจยอดหนี้จากสกสค. จังหวัดว่ามีหนี้ขั้นวิกฤตอยู่ที่จำนวนเท่าไร แต่เท่าที่ประมาณการน่าจะอยู่ที่คนละ 1 ล้านบาทต่อคนขึ้นไป ซึ่งคาดว่ารุ่นแรกจะนำร่องประมาณ จังหวัดละ 10 คน รวมประมาณ 700 คน “นายพิษณุกล่าว
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/400786