โพสต์โดย : Admin เมื่อ 10 มี.ค. 2565 01:26:23 น. เข้าชม 166611 ครั้ง
อย่าปล่อยให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเป็นคนเปลี่ยนงาน
ขอกราบลาออกจากราชการ อดีตคุณครูสิริมาศ จันทรโคตร ในตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
ถึงไม่ได้เป็นครูในอาชีพ แต่เป็นครูในตัวตน (เนี่ย)
มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565
โปสเตอร์สีแจ่มบาดตากับประโยคเด็ดแสดงถึงความยินดีกับการลาออกจากอาชีพ "ครู" กลายเป็นไวรัลในโซเชียลที่มียอดแชร์ในเฟซบุ๊กมากกว่า 2,900 ครั้ง และมีผู้กดไลก์และกดหัวใจให้โพสต์นี้มากกว่า 6,000 ครั้ง ดึงดูดสายตาให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ ต้องกดกล่องข้อความเข้าไปทักทาย เพื่อขอพูดคุยกับเจ้าของโพสต์ในทันที
"สิริมาศ จันทรโคตร" ในวัย 26 ปี ที่เมื่อ 2 วันก่อนยังมีตำแหน่งเป็น "ครูผู้ช่วย" แต่ในวันนี้เธอได้สนทนากับทีมข่าวในฐานะอดีตครูคนหนึ่งถึงที่มาของโปสเตอร์ยอดฮิตที่ตั้งใจทำฉลองให้ตัวเอง
แต่คนในโลกออนไลน์กลับเข้ามาร่วมยินดีเป็นจำนวนมาก จนเกินความคาดหมาย และทำให้รู้ว่ายังมีอดีตเพื่อนร่วมอาชีพอีกหลายคน ที่อยากจะลาออกเช่นกัน แต่ยังทำไม่ได้ด้วยติดเงื่อนไขบางอย่าง
“โปสเตอร์แบบนี้ปกติเขาจะทำกันตอนสอบได้ หรือได้บรรจุ แต่งตั้ง เราก็รู้สึกว่าแปลกดีเลยลองทำดู ซึ่งประโยคแรกบนโปสเตอร์เห็นมาจากโซเชียลแล้วรู้สึกว่าเข้ากับเราดี แต่ประโยคล่างเราคิดเองหมดเลย แล้วผลตอบรับคือ มีคนเข้ามาแสดงความยินดีกับเราเยอะมาก”
"สิริมาศ" เติบโตมาในครอบครัวข้าราชการทั้งพ่อ แม่ และพี่ชายอีก 2 คน ด้วยความรู้สึกว่า ไม่ชอบระบบการศึกษาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน แต่เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดคณะศึกษาศาสตร์ ก็ไม่ได้สร้างกำแพงให้ตัวเอง และพยายามเรียนรู้อย่างเต็มกำลัง
ก่อนจะพบว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในหลักสูตรนวัตกรรมการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ทำให้รู้สึกดีกับอาชีพ "ครู" มากขึ้น พร้อมกับการสร้างความหวัง และ ความอยากจะเป็นครูที่ดีให้นักเรียนในอนาคต แต่ในวันที่ถูกเรียกว่า "ครู" จริง ๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้
หลังจากเริ่มสอนในโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งที่มีครู 20 คน สอนนักเรียน 300 คน ตั้งแต่ชั้น อ.1 ถึง ม.3 ภารกิจหลักกลับไม่ใช่การสอนนักเรียน แต่เป็นการทำงานหลายหน้า ทั้งการสอนควบวิชาวิทยาศาสตร์ การดูแลงานพัสดุ และเอกสารต่างๆ จนไม่ได้โฟกัสการสอนนักเรียนทั้งที่เป็นหน้าที่หลักของ "ครู"
“งานเอกสารกลายเป็นภาระที่หนักกว่าการสอน ทำให้มองว่า ถ้างานพวกนี้สำคัญ ทำไมไม่บรรจุไปในหลักสูตรตอนเรียนครูไปเลย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ครูรุ่นพี่ก็ไม่ได้พร้อมจะสอนเราทุกคน พอเจอแบบนี้เรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าระบบการงานกำลังบั่นทอนเรา”
ขณะเดียวกัน การทำวิทยฐานะก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ ที่สร้างภาระให้กับทุกตำแหน่งในโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงภารโรง งานเอกสารและการสร้างผลงานกลายเป็นหินขนาดใหญ่ที่ทุกคนต้องแบกไว้ ทั้งที่การประเมินงานแต่ละตำแหน่งมีวิธีประเมินอื่นอยู่แล้ว แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่คนทำตามคน ไม่ใช่คนทำตามระบบ คำว่า "ทำไปเถอะ นิดเดียวเอง" จึงกลายเป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ จนหลายคนเริ่มเคยชิน
“พอระบบไม่ดีพอ กลายเป็นคนไม่ได้ทำตามระบบ แต่คนทำตามคนแทน ต่อให้ไปโรงเรียนไหนก็อาจจะเป็นเหมือนกัน เราไม่อยากรอ 4 ปี เพื่อขอย้ายโรงเรียน แล้วไปเสี่ยงดวงกับ ผอ.คนใหม่ หรือระบบในโรงเรียนอื่นอีก”
"สิริมาศ" เข้าใจว่า ระบบในการทำงานมีปัญหาได้ในทุกที่ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการคล้าย ๆ กันในระบบราชการครู ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาใหญ่มีอยู่จริง
“คำถามคือ คนที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาส่วนนี้อย่างชัดเจน มีความพยายามที่จะแก้แค่ไหน แล้วมองเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริง ๆ แล้วหรือยัง”
"ถ้าคุณอดทนอยู่ในระบบแย่ ๆ ได้ 3 ปี คุณจะทนมันได้ตลอดไป" คอยวนอยู่ในหัวแบบสลัดทิ้งไม่ได้ "สิริมาศ" ได้คำตอบว่า จะทนให้ระบบบั่นทอนความเป็นตัวเองไม่ได้เด็ดขาด เพราะการอดทนที่ไม่มีปลายทาง เหมือนต้นไม้ที่มีวัชพืชอยู่ด้วยมากเกินไป จนรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงไม่พอที่จะเติบโตได้ และเธอ "อยากโต ไม่ได้อยากตาย"
เมื่อระบบในการทำงานไม่ได้สนับสนุนให้ครูทำงานได้ง่ายขึ้น จนทำให้งานล้นมือ คำว่า "ลาออก" ก็เริ่มปรากฏขึ้นในใจของ "สิริมาศ" และกลายเป็นก้าวแรกของการสร้างความเข้าใจกับครอบครัวถึงความตั้งใจในการยุติอาชีพ "ครู" และเส้นทางข้าราชการ เพื่อก้าวไปสู่เส้นทางใหม่ กระทั่งทำการเรียนการสอนได้ 3 เทอม หรือประมาณ 1 ปีกว่า ใบลาออกก็ถูกยื่นไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมกับวันที่ต้องถอดชุดสีกากี
ก้าวต่อไปของ "สิริมาศ" จะเริ่มต้นตามที่บอกในโปสเตอร์ว่า "ถึงไม่ได้เป็นครูในอาชีพ แต่เป็นครูในตัวตน" ด้วยการจัดทำแบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป.6 ให้นักเรียนอ่านได้ ครูอ่านดี โดยเรียบเรียงเนื้อหาบนความหวังที่ว่า แบบฝึกหัดเล่มนี้จะช่วยให้ครูที่แม้จะไม่ได้จบเอกวิชาคณิตศาสตร์ก็สามารถใช้สอนนักเรียนได้ เพราะอาจจะมีครูอีกหลายคนที่ต้องสอนไม่ตรงเอกหรือควบหลายวิชา
“แบบฝึกหัดก็เหมือนกับระบบ ถ้าระบบดี อะไรก็ดี เราอยากทำแบบฝึกหัดนี้ให้ดี เพราะถ้าแบบฝึกหัดดี เด็กจะยังไปต่อได้ดีด้วย”
"สิริมาศ" ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การลาออกและการโพสต์โปสเตอร์นี้ครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ยังมีครูอีกมากที่ต้องการจะลาออก และถ้าวันหนึ่งทุกคนพร้อมที่จะเดินหน้าลาออกมากขึ้น อาจกลายเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เพราะผู้ใหญ่ในระบบอาจไม่ได้มองว่าเป็นความล้มเหลวของระบบ แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กรุ่นใหม่
"ยังมีครูเก่ง ๆ ที่อยู่ในระบบราชการครูอีกหลายคน ที่ยังพยายามสอนหนังสืออย่างสร้างสรรค์ และทำงานในทุกหน้าอย่างเต็มที่ เราหวังว่าคนเหล่านี้จะได้รับสิ่งตอบแทนที่ดีอย่างระบบที่ดูแลเขาได้"
สุดท้ายความหวังการศึกษาไทยก็ยังต้องพึ่งพาการจัดการจากบนลงล่างอยู่ดี เพราะหากต้องเปลี่ยนจากล่างขึ้นบนคนทำงานคงไม่มีแรงสู้ไหว และสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทย คือ นโยบายกลางที่ชัดเจน ไม่ใช่การเปลี่ยนไปตามสมัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ