โดย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ที่มี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณาปรับให้ไปสอบภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป กับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สอบภาค ข ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ จะใช้ผลสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งจัดสอบตามวิชาเอกอยู่แล้ว
เมื่อสอบผ่านทั้งภาค ก และภาค ข แล้ว ผู้สอบผ่านการคัดเลือก สามารถนำผลสอบไปยื่นเพื่อขอเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ภาค ค กับโรงเรียนที่มีอัตราว่าง และเปิดรับตามประกาศของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัด
ซึ่ง ก.ค.ศ.และ สพฐ.ต้นสังกัด เชื่อว่า วิธีนี้จะทำให้โรงเรียนสามารถเลือกครูผู้สอนได้ตรงกับความต้องการ ขณะเดียวกันยังแก้ปัญหาขาดแคลนครูในบ้างพื้นที่ เพราะแต่ละปีจะมีครูขอย้ายกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก หากใช้แนวทางนี้ จะทำให้ครูสามารถเลือกยื่นคะแนน เพื่อสอบสัมภาษณ์ในโรงเรียนที่ตรงกับความต้องการได้ทันที
ทั้งนี้ การสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย เดิม สพฐ.มอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จัดสอบ ส่วนกลางคือ สพฐ.ออกข้อสอบ ระบบนี้ถูกมองว่ามี “ช่อง” ทำให้เกิดการ “ทุจริต” ได้
อย่างกรณีข้อสอบรั่วในการสอบครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ว12 ปี 2556 ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่โต จนถึงขั้นมีคำสั่ง “ปลดออก” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และอดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว
ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งปรับโครงสร้าง ศธ.ในส่วนภูมิภาค ให้อำนาจ กศจ.ดูแลภาพรวมการจัดการศึกษาภายในจังหวัด รวมถึง การจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ที่โอนหน้าที่ให้ กศจ.ในการจัดสอบ และออกข้อสอบ
ซึ่งที่ผ่านมา กศจ.แต่ละแห่งจะใช้วิธี “จ้าง” มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ออกข้อสอบ และดำเนินการจัดสอบ แต่ยังเกิด “ข้อกังขา” ในเรื่องมาตรฐานข้อสอบที่อาจไม่เท่ากัน อีกทั้ง ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องทุจริต เพราะยังมีข่าวเรียกรับเงินหลักแสน จนถึงหลายแสนบาท เพื่อให้สอบผ่าน และขึ้นบัญชี
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การจัดสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย เป็นระบบที่สามารถคัดเลือกคนเก่ง และดีมาเป็นครู ได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม
คาดหวังว่า การยกเครื่องการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ จะเป็นเหมือนยาวิเศษที่ช่วยแก้ปัญหาไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นอย่างในอดีตที่ผ่านมา…
นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการสอบแบบใหม่ ซึ่งได้หารือกับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ ก.ค.ศ.เบื้องต้นแล้ว คิดว่าแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เดิมแต่ละ กศจ.ให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบ ทำให้มีปัญหาเรื่องมาตรฐานข้อสอบที่ไม่เท่ากัน แต่หากจะใช้ผลการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ เป็นคะแนนสอบภาค ข นั้น จะเริ่มใช้ได้จริงกับนักศึกษาที่เรียนในคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี ที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2562 ซึ่งจะจบในปีการศึกษา 2565 ดังนั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.จะต้องคิดด้วยว่ากลุ่มที่เข้าเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 และก่อนปีการศึกษาดังกล่าว จะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่ง ก.ค.ศ.รับจะไปหาแนวทางที่ชัดเจนต่อไป
“สำหรับผู้ที่ไม่ได้จบในคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ แล้วอยากเป็นครูนั้น มีช่องทางคือ เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ที่คุรุสภาจะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเปิดสอน ให้นิสิต นักศึกษา สามารถเรียนควบได้ตั้งแต่เรียนในชั้นปีที่ 3 เมื่อจบแล้ว หากต้องการเป็นครูจริงๆ จะต้องไปฝึกปฏิบัติการสอนในโรงเรียนเป็นเวลา 1 ปีตามหลักเกณฑ์ ก่อนสอบภาค ก และภาค ข เพื่อเป็นครูต่อไป แม้จะช้ากว่าผู้ที่เรียนในคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ 1 ปี แต่ไม่ถือว่าปิดช่องทางหมด” นายเอกชัย กล่าว
ขณะที่ นายสมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) กล่าวคล้ายกันว่า เห็นด้วยกับแนวทางของ ก.ค.ศ.เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาจะมีข้อถกเถียงในเรื่องข้อสอบยากเกินไป หรือง่ายเกินไป ขณะเดียวกันทราบว่า การสอบภาค ค สอบสัมภาษณ์ จะมีการสอบปฏิบัติการสอนด้วย ซึ่งเป็นข้อดี แต่ก็ยังมีความห่วงใยว่าข้อสอบภาค ก ของ ก.พ.จะไม่ครอบคลุมวิชาชีพครู ดังนั้น อาจจะให้นำวิชาชีพครูบางส่วนไปสอบในภาค ค ด้วย เพื่อให้สามารถคัดเลือกครูที่มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง เพราะใช้ถึง 3 มาตรฐานในการคัดครู คือ การสอบของหน่วยงานภายนอก การสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ มาเป็นคะแนนภาค ข และการสอบปฏิบัติการสอน ภาค ค ซึ่งน่าจะเพียงพอ
หาก ก.ค.ศ.ไฟเขียวยกเครื่องการสอบครูผู้ช่วยแบบใหม่จริง ต้องจับตาดูว่า จะเป็นยาวิเศษช่วยแก้ปัญหาทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยได้สะเด็ดน้ำหรือไม่ หรือเป็นเพียงย้าย “ช่องโหว่” จากจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่งเท่านั้น