โพสต์โดย : Admin เมื่อ 29 ม.ค. 2563 09:04:32 น. เข้าชม 166413 ครั้ง
ผลวิจัยชี้ ครูเสียเวลา 65 วันต่อปีการศึกษาโดยไม่ได้สอน ตัวครูยอมรับระบบโรงเรียนประกันคุณภาพผักชีโรยหน้า ผลเสียตกอยู่ที่เด็ก
แต่จากผลการสำรวจของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า ครูกลับใช้เวลากับภาระงานอื่นมากถึง 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดรวมเป็น 65 วัน หรือ 32.5% ต่อ ปีการศึกษา (200 วัน)
นั่นสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูในโรงเรียนเกือบ 40,000 แห่งทั่วประเทศ โดยภาระอื่นนอกจากการสอนและการเตรียมการสอน ได้แก่ งานกลุ่มสาระการเรียนรู้ งานระเบียบวินัย ทะเบียนวัดผล ธุรการ พิธีการและงานกิจกรรมต่างๆ ยังไม่รวมถึงการประชุม การคัดเลือกนักเรียนเพื่อแข่งขัน งานเวรครู และการประเมินคุณภาพการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ที่ทำให้กระทบถึงการเรียนการสอน
ครูผึ้ง (ของสงวนชื่อ และนามสกุล) คุณครูโรงเรียนเอกชนย่านชิดลม อธิบายว่า ภาพงานสอนของครูในห้องเรียนเป็นเพียงงานเบื้องหน้าที่สังคมรับรู้ แต่เบื้องหลังนั้นยังมีงานนอกห้องอื่นๆ อีก แม้จะเป็นช่วงปิดเทอมก็ตาม
"แต่ก่อนเราคิดว่า เด็กหยุดเรียนคุณครูก็คงจะได้หยุดบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาเด็กหยุด คุณครูก็ยังต้องทำงานอยู่ และในความเป็นจริง คุณครูมี อะไรมากมาย มากกว่าการสอนน่ะค่ะ มีการเตรียมงาน การประชุม จัดการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ มีการคุยกับผู้ปกครองเกี่ยวกับ พัฒนาการของเด็กทุกคน"
สำหรับเรื่องของภาระงานที่นอกเหนือการสอนที่เป็นปัญหากับครูนั้น ครูผึ้งแสดงความเห็นว่า เป็นเรื่อง "คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด"
ขณะที่ นารีวรรณ จันทบาล ผู้อำนวยการภารกิจวิจัยนวัตกรรมการบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ชี้แจงว่า ครูสามารถใช้ชั่วโมงที่มีภาระงานอื่นมานับเป็นชั่วโมงขอเลื่อนวิทยาฐานะได้ ส่วนปัญหาครูและบุคลากรไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการพยายามเพิ่มบุคลากรให้ไปช่วยภาระงานนอกการสอนของครูแล้ว แต่ก็ยังทำได้ไม่มากนักเพราะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตครูไทย ซึ่งจะส่งผลต่อ “คุณภาพการสอน” ของครูได้เป็นอย่างดี
แม้จะมี การระบุภาระงานขั้นต่ำของครู เพื่อเป็นคุณสมบัติในการขอรับประเมินวิทยฐานะ เอาไว้ว่า ครูต้องมีชั่วโมงสอนขั้นต่ำ 12 ชั่วโมง และมีภาระงานขั้นต่ำอีก 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะออกหนังสือกำหนดภาระงานสอนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอนก็ตาม
เรื่องนี้ ครูเอ (นามสมมติ) ข้าราชการครูในสังกัดโรงเรียนรัฐบาลชื่อดังแห่งหนึ่งย่านวิภาวดียอมรับว่า ภาระงานของคนเป็นครูนอกเหนือจากการสอนนั้นมีมาก เพราะนอกจากวิชาการที่ต้องสอนเด็กในคาบแล้ว ยังมีงานรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ
"คนคิดหลักสูตรบางทีไม่ได้เป็นคนที่สอน คนที่สอนไม่ได้เป็นคนคิดหลักสูตร ทำให้บางทีการใช้หลักสูตรแต่ละโรงเรียนมีความเหลื่อมล้ำกัน อย่างใน กรุงเทพฯ ก็จะเข้าถึงสื่อ เข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ได้มากกว่า เด็กต่างจังหวัด เลยทำให้การใช้แผนการสอนเดียวกัน หรือหลักสูตรเดียวกัน ไม่สามารถเป็นไปได้เท่าที่ควรจะเป็น ครูไทยบางคน... เหมือนบางโรงเรียนต้องการเป็นโรงเรียนชั้นนำ เป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัล อาจจะมีการทำเอกสารขึ้นมาโดยที่แบบ... ไม่ได้เป็นความจริงอะไรอย่างนี้ และพอเข้ามาตรวจปุ๊ป ก็เจอเอกสารที่แบบ... ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามเอกสารที่ทำ" เธอบอก
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะบุคลากรสนับสนุนในระบบการศึกษามีไม่เพียงพอ ทำให้ครูต้องมาทำงานนอกเหนือการสอนอื่นๆ ซึ่งถ้าหากมีการออกแบบระบบการบริหารโรงเรียนใหม่ทั้งหมด ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
ที่มา >>> https://image.bangkokbiznews.com/kt/assets/css/default/imgs/Logo_KT-50px.png