โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 มี.ค. 2560 12:52:33 น. เข้าชม 166386 ครั้ง
อนาคตของ “ชาติ” เริ่มต้นที่ “การศึกษา” คำนี้เห็นจะไม่ผิด เพราะประเทศจะพัฒนา เจริญก้าวหน้าไปไกลได้ ก็ต้องพึ่งรากฐานการศึกษาที่ดี และเมื่อโลกหมุนเร็วจนทำให้มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ๆ เข้ามามากมาย ก็ส่งผลให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารการศึกษา ผู้สอน จะเข้าใจและนำ “นวัตกรรม” เหล่านี้มาปรับใช้ในระบบการศึกษาของไทยให้เหมาะสมได้อย่างไร จึงเป็น “โจทย์” ที่ต้องการ “คำตอบ” ของทั้งผู้เรียน ผู้ปกครอง สังคม ถึงที่สุดจะเป็นคำตอบในการพัฒนา “Education 4.0” ที่จะทำให้ไทยก้าวพ้นคำว่า “ประเทศกำลังพัฒนา”
ตามกรอบแนวทางการดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย ให้ความสำคัญกับการประกันโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างรายได้ ภายใต้บริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความเป็นพลวัต ภายใต้สังคมแห่งปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนสามารถแสวงหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 15 ปีข้างหน้า จากกรอบแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารประเทศ ให้ความสำคัญการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว นั่นคือโจทย์ โดยเริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่จะถูกมองในบริบทความเท่าเทียม ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ และการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับครูผู้สอน และองค์ประกอบรอบข้างคือ เทคโนโลยี นวัตกรรม สื่อการสอนที่จะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หากถามถึงคำตอบของการหลุดพ้นไปสู่เป้าหมาย “นวัตกรรมการศึกษา” จึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการตอบโจทย์ปัญหาในหลายๆด้าน และเมื่อเร็วๆนี้ เราได้เห็นการเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนาของผู้บริหารประเทศด้านการศึกษาในหลายโครงการ หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจคือ สะเต็มศึกษา (STEM) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์(S) เทคโนโลยี(T) กระบวนการทางวิศวกรรม(E) และคณิตศาสตร์(M) เข้าด้วยกัน อันจะเป็นการแก้ปัญหาการเรียนรู้ขาดการบูรณาการ ไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ พัฒนานวัตกรรม ผลผลิตใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับทักษะการเรียนรู้ คุณลักษณะยุคดิจิตอล ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โครงงานวิทยาศาสตร์เชิงนวัตกรรม ถือเป็นการบูรณาการณ์การเรียนรู้โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเรียนรู้
นายสืบพงษ์ สมิตทันต์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ผู้จัดงาน EdTeX 2017 งานแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการศึกษา ให้ข้อมูลอย่างน่าสนใจว่า การจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ หรือพูดง่าย ๆ คือ ต้องเริ่มต้นจากการ พัฒนาครู พัฒนาวิธีการเรียนการสอน ท้ายที่สุดคือหลักสูตร และระบบการศึกษา ซึ่งสิ่งที่จะเข้ามาตอบโจทย์เหล่านี้ทั้งหมดคือ นวัตกรรม และเทคโนโลยีการศึกษา ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาทั้งระบบ และเมื่อย้อนดูการพัฒนาการศึกษาในปัจจุบันยังพบว่ามีสถานศึกษาหลายแห่งยังไม่เข้าถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยี จากแนวคิดข้างต้นจึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดงาน EdTeX 2017 งานแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการศึกษา ระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ได้รวบรวมเทคโนโลยีการศึกษาจากบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและจากต่างประเทศมาจัดแสดง เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ได้เปิดโลกทัศน์ และนำความรู้จากการใช้เทคโนโลยีการศึกษาเหล่านี้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งภายในการจัดงานได้แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ 1. โซนแสดงสินค้า และเทคโนโลยีการศึกษา และ 2. การประชุมสัมมนาในหัวข้อการพัฒนาการศึกษาด้วยนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านการศึกษาระดับโลก เช่น Microsoft และ Google มาร่วมบรรยายในครั้งนี้
การเกิดขึ้นของ EdTeX 2017 ถือเป็นการ “เริ่มต้น” สู่การ “เปลี่ยนแปลง” ระบบการศึกษาของไทยให้เบนเข็มทิศไปสู่เป้าหมายคือ “Education 4.0” ได้อย่างตรงจุด ที่เหลืออยู่ที่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารการศึกษา ครูผู้สอน ผู้เรียน รวมถึงผู้ปกครอง จะสามารถเข้าใจ เข้าถึงมันได้เร็วแค่ไหน เพราะนั้นหมายถึงการไปสู่เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง