มีนักเรียนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่าไร ถ้ามีนักเรียนเฉลี่ยโรงเรียนละแค่ 20 คน ก็จะมีเด็กที่ต้องเดือดร้อนกว่า 300,000 คน ซึ่งในความเป็นจริง โรงเรียนขนาดเล็ก คือโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่120 คนลงมา แสดงว่าจะมีเด็กๆ ที่ต้องกระจัดกระจายไปอยู่ที่โรงเรียนต่างๆ หลายแสนคน ถ้าหาก สพฐ. จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามเป้าหมายที่กล่าวไว้
โรงเรียนขนาดเล็กเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่ สพฐ.ต้องกำจัด เพราะคุณภาพต่ำมากจริงหรือ ซึ่งควรเอาข้อมูลมาเปิดเผย และหากคุณภาพต่ำจริง อาจต้องย้อนกลับไปพิจารณาด้วยว่า สพฐ.ได้พยายามใช้สรรพกำลังความรู้ความสามารถ และทรัพยากรเพียงใด จึงทำให้คุณภาพตกต่ำ หรือปล่อยให้โรงเรียนช่วยเหลือตัวเองไปเพียงลำพัง เมื่อคุณภาพต่ำ อาจต้องมาพิจารณาว่า หากให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือเกื้อหนุนมากกว่านี้ คุณภาพจะดีขึ้นหรือไม่ หรือมีโรงเรียนขนาดเล็กมากน้อยเพียงใดที่ยังสามารถรักษาระดับคุณภาพไว้ได้ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา
สิ่งที่ต้องพิจารณาคุณภาพไม่ใช่แค่คะแนนโอเน็ตเพียงอย่างเดียว ยังมีคะแนนสอบการอ่านการเขียน การสอบ NT และนักเรียนสามารถไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ประการต่อมา ความจำเป็นในการต้องยุบโรงเรียนขนาดเล็กถึง 15,000 โรงเรียน เป็นเพราะโรงเรียนเหล่านี้ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อหล่อเลี้ยงโรงเรียนขนาดเล็กจริงหรือ ถ้ายุบแล้วรัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวนมาก ซึ่งไม่จริง เพราะอย่างไรงบประมาณที่รัฐต้องจัดให้โรงเรียนที่เป็นงบเรียนฟรี 15 ปี รัฐต้องจัดให้ตามรายหัวของนักเรียนอยู่แล้ว ไม่ว่านักเรียนจะไปเรียนโรงเรียนใด รัฐก็ต้องจัดสรรงบประมาณให้ ทั้งค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือเรียน และอุปกรณ์การเรียน
งบประมาณที่รัฐจัดให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้ในการจัดการศึกษา โรงเรียนหนึ่งๆ ถ้าสมมุติมีนักเรียน 40 คน แบ่งเป็นอนุบาล 10 คน ประถมศึกษา 30 คน เงินส่วนที่รัฐจัดให้โรงเรียนใช้ในการจัดการศึกษา ได้แก่ เงินอุดหนุนรายหัวรวม 94,000 บาทต่อปี โดยเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่จัดเพิ่มเติมให้โรงเรียนขนาดเล็ก 15,500 บาท ต่อปี เงินจำนวนนี้รัฐอาจมองว่าเป็นความสิ้นเปลืองหรืออย่างไร เพราะหากไม่มีโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการผลักดันให้นักเรียนไปเรียนที่อื่น รัฐก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินอีก 15,500 บาท
งบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่รัฐต้องจัดให้โรงเรียนคือ ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนดังกล่าว จะได้รับงบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นเงิน 18,700 บาทต่อปี รวมงบทั้งสองรายการนี้ รัฐต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 112,700 บาท ถ้าเฉลี่ยรายหัวปีหนึ่งรัฐต้องใช้งบประมาณสำหรับนักเรียน 40 คน ในโรงเรียนขนาดเล็ก คนละ 2,817.50 บาท ซึ่งถือเป็นเงินเล็กน้อยมาก สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพประชากร
ในความเป็นจริงแทนที่จะตั้งหน้าตั้งตายุบโรงเรียนขนาดเล็ก ทำไมไม่คิดว่าทำอย่างไรโรงเรียนขนาดเล็กจะมีศักยภาพมากกว่า รัฐควรเข้ามาช่วยอะไรมากกว่านี้ ไม่ใช่การสื่อสารว่าต้องยุบเพราะคุณภาพต่ำ ซึ่งต่ำจริงหรือไม่ ต่ำทั้ง 15,000 โรงเรียนหรือไม่
ในความเป็นจริง มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยคะแนนโอเน็ตสูงกว่าระดับประเทศ หรือมีศักยภาพในด้านอื่นๆ จึงไม่ควรทำให้สังคมมองไปว่าโรงเรียนขนาดเล็กคุณภาพต่ำ
รัฐให้ความช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กมากน้อยเพียงใด ถือว่าน้อย นอกจากเงินสมทบที่ให้เพียงหมื่นกว่าบาทต่อโรงเรียน แต่บางทีทำให้รู้สึกเหมือนถูกตัดน้ำตัดไฟ ปล่อยให้แต่ละโรงเรียนอ่อนล้าไปเอง ถ้าบุคลากรในโรงเรียนไม่เข้มแข็ง ชุมชนไม่ช่วยเหลือ ในที่สุดก็จะแพ้ภัยไปเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อครูโรงเรียนขนาดเล็กเกษียณอายุราชการ โรงเรียนจะถูกตัดอัตรากำลัง โดยมีเกณฑ์ว่าโรงเรียนที่มีเด็ก 120 คนลงมา ครูเกษียณแล้วโรงเรียนจะไม่ได้อัตราคืน จนบางโรงเรียนเหลือครู 2 คน 3 คน ในขณะที่จำนวนชั้นเรียนมี 8 ชั้น ครูต้องสอนควบชั้น โรงเรียนต้องแก้ปัญหาด้วยการทอดผ้าป่าเพื่อนำเงินมาจ้างครูผู้สอน ซึ่งพอจ้างครูได้สัก 1 คน พอปีถัดไปเงินหมด ก็ต้องทอดผ้าป่า หาเงินบริจาคมาพัฒนาโรงเรียนเป็นเช่นนี้ทุกปี รัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด?
ในส่วนโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็เหมือนถูกตัดน้ำตัดไฟเช่นเดียวกัน เดิมที่มีครูไม่ครบชั้นอยู่แล้ว เมื่อมีครูเกษียณอายุราชการ อัตราก็จะถูกตัดไปโดยปริยายในฐานะที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก
ต่อมาเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังของ กคศ. เปลี่ยนไป ที่เดิมเคยแยกเกณฑ์เป็น 2 ส่วน คือระดับประถมศึกษาใช้เกณฑ์ครู 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน ส่วนมัธยม คือ 1 ชั้นต่อครู 2 คน กลายเป็นใช้เกณฑ์เหมือนกันหมดคือใช้เกณฑ์ครู 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน ทั้งที่โรงเรียนขยายโอกาสมีจำนวนชั้นเรียนทั้งหมด 11 ชั้น แต่เกณฑ์จะให้มีครูแค่ไม่กี่คน ซึ่งไม่ครบชั้น และจะยิ่งขาดครูมากขึ้นเมื่อมีครูเกษียณอายุราชการ และเกณฑ์ใหม่นี้จะยิ่งทำให้อัตราที่มีอยู่เดิม ซึ่งไม่ครบชั้น แถมยังเกินเกณฑ์อีก ทั้งที่ภาระการจัดการศึกษามีมาก
ในบรรดาโรงเรียนขนาดเล็ก 15,000 โรงเรียน มีกี่โรงเรียนที่ผู้บริหาร ครู และนักเรียนเรียกร้องให้รัฐยุบหรือควบรวมโรงเรียนของตนเอง ครูส่วนหนึ่งอยู่โรงเรียนขนาดเล็กท่ามกลางความขาดแคลนจนเกษียณอายุราชการ ทั้งที่อาจมีโอกาสย้ายไปโรงเรียนที่พร้อมกว่า สอนน้อยกว่า สบายกว่า มีกี่ชุมชนที่เบื่อหน่ายกับการทอดผ้าป่าของโรงเรียนจนเรียกร้องให้ยุบโรงเรียนในชุมชนของตนเองเสีย
แต่โรงเรียนเป็นหน้าเป็นตาของชุมชน เป็นความภูมิใจร่วมกันของคนในชุมชน มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นแหล่งบอกเล่าเรื่องราวของคนในชุมชน และเป็นศูนย์รวมของชุมชน ถ้าคนในชุมชนไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนของเขา เขาคงไม่ส่งลูกหลานมาเรียน แม้เป็นเพียงนักเรียน 40-50 คนก็ตาม
หากนักเรียนต้องออกไปเรียนที่อื่น โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมในโรงเรียนขยายโอกาสที่ต้องไปเรียนในอำเภอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 50-60 บาทต่อคน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเดือดร้อน ในขณะที่เรียนในโรงเรียนขยายโอกาส บางโรงเรียนสามารถหาเงินบริจาคมาจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเงินส่วนนี้รัฐไม่ได้สนับสนุน แต่เป็นความสามารถของโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐในส่วนนี้
หากนักเรียนถูกผลักดันให้ไปเรียนที่อื่น ในขณะที่นักเรียนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาลดลงก็เป็นได้ และสร้างภาระให้ผู้ปกครองเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐควรจะทำหรือไม่
การยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ควรเกิดจากความคิดของคนไม่กี่คน ที่ไม่เคยมาสัมผัสโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่เคยมองเห็นความจริงว่ารัฐสิ้นเปลืองงบประมาณเพียงน้อยนิด แต่สามารถสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพได้ เพราะครูสามารถดูแลเอาใจใส่นักเรียนได้อย่างทั่วถึง
การยุบโรงเรียนขนาดเล็กหรือไม่ คณะกรรมการควรออกมาดูสภาพความเป็นจริงให้ครบ 15,000 โรงก่อน ควรต้องถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งได้แก่ ครู นักเรียน และชุมชน เสียก่อนว่า ต้องการยุบโรงเรียนของเขาหรือไม่
งบประมาณเพียง 15,500 บาท ที่รัฐต้องจัดสรรเพิ่มเติมให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 40 คน ถือเป็นเงินที่เล็กน้อยมาก หรือเมื่อรวมงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด เป็นงบประมาณไม่กี่ร้อยล้านบาท กับจำนวนนักเรียนหลายแสนคน ถือว่าไม่มาก หากเทียบกับงบประมาณด้านอื่นๆ ที่อาจใช้ไปแล้วไม่เห็นผลเท่ากับการลงทุนกับเด็ก กับการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ซึ่งคุณภาพอาจไม่ได้หมายถึงการมีคะแนนโอเน็ตสูงเท่านั้น แต่อาจหมายถึงคุณภาพชีวิตของนักเรียนที่ได้จากการมาโรงเรียน ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการอยู่ในสังคมเมื่อเติบโตขึ้น
โรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เนื้อร้ายทางการศึกษา ที่รัฐจะต้องแสดงความพยายามหลายครั้งเพื่อให้มีจำนวนลดลง หรือหมดไปจากการศึกษาไทย แต่สิ่งที่รัฐต้องทำ โดยเฉพาะเป็นภารกิจของ สพฐ.ที่จะต้องแสดงความสามารถที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพดี มีความพร้อมในการจัดการศึกษามากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยโรงเรียนไปตามยถากรรม รอวันที่จะถูกตัดทิ้งไป เพราะโรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่เนื้อร้าย
สายพิน แก้วงามประเสริฐ