โพสต์โดย : Admin เมื่อ 5 ธ.ค. 2560 15:13:44 น. เข้าชม 166499 ครั้ง
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกประกาศ ศธ. เรื่องแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) พ.ศ.2560 ให้มี 8 กลุ่ม และ 1 หน่วยตรวจสอบภายในว่า การแบ่งส่วนราชการภายในของ สพท.ตามประกาศ ศธ. พ.ศ.2553 ที่ใช้อยู่เดิม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) แบ่งส่วนราชการเป็น 7 กลุ่ม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) แบ่งเป็น 6 กลุ่ม โดย สพป.มีกลุ่มงานเพิ่มจาก สพม. 1 กลุ่มคือ กลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชน
นายอดิศรกล่าวต่อว่า ส่วนประกาศ ศธ. ฉบับใหม่นี้แบ่งกลุ่มงานเพิ่มเป็น 9 กลุ่ม ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม มีการปรับเปลี่ยนชื่อกลุ่มงานบางกลุ่มและบางภารกิจ และตัดกลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชนออกไปจาก สพป. ที่เห็นชัดเจนคือ การเพิ่มกลุ่มงานพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และหน่วยตรวจสอบภายใน รวมเป็น 9 กลุ่มเหมือนกันทั้ง สพป. และ สพม. ตนเข้าใจว่า สพฐ.คงมีการวิเคราะห์ภาระงานของ สพท.มาเป็นอย่างดีแล้ว การตัดกลุ่มส่งเสริมสถานศึกษาเอกชนออกไปจาก สพป. ก็มีความเหมาะสม เพราะสถานศึกษาเอกชนมีการจัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และปัจจุบันการติดต่อประสานงานของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็ไปติดต่อที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) แทนอยู่แล้ว นอกจากนี้ การปรับชื่อกลุ่มและภาระงานเป็นกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกำหนดกลุ่มเพิ่มขึ้นอีกสองกลุ่ม คือ กลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และหน่วยตรวจสอบภายใน ก็สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา รวมทั้งหน่วยตรวจสอบภายในที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องธรรมาภิบาลของเขตพื้นที่ฯ
“เหตุที่ประกาศ ศธ.เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายใน สพท. กลายเป็นประเด็นเรื่องของการบริหารงานบุคคล อาจเนื่องมาจากช่วงนี้มีข่าวความขัดแย้งเรื่องอำนาจการบริหารงานบุคคล ระหว่าง ผอ.สพท.กับ ศธจ. แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วประกาศ ศธ.เรื่องการแบ่งส่วนราชการภายใน สพท. พ.ศ.2553 ที่ใช้อยู่เดิมก่อนจะออกฉบับนี้ แม้จะกำหนดอำนาจหน้าที่ของกลุ่มบริหารงานบุคคลไว้ ว่ามีอำนาจสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน และการออกจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่กลุ่มบริหารงานบุคคลของ สพท.ก็ไม่ได้มีอำนาจโดยตรง เพียงแต่ทำหน้าที่ด้านธุรการเท่านั้น เพราะอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และ ผอ.สพท.เอง กฎหมายกำหนดให้เป็นเลขานุการ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ส่วนประกาศ ศธ.เรื่อง การแบ่งส่วนราชการที่ออกมาฉบับใหม่นี้ ได้ตัดอำนาจหน้าที่ของกลุ่มบริหารงานบุคคลออกไป ก็เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหลักคือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. โดยเรื่องดังกล่าวให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และ ศธจ. ฉะนั้น ประกาศ ศธ.เรื่องการแบ่งส่วนราชการของ สพท. จึงเป็นเพียงปลายทางของเรื่องอำนาจการบริหารงานบุคคลเท่านั้น” นายอดิศรกล่าว
นายอดิศรกล่าวต่อว่า ประกาศ ศธ.ฉบับนี้เปรียบเสมือนยาหอมสำหรับบุคลากรในเขตพื้นที่ฯ เพราะการมีกลุ่มเพิ่มขึ้น ทำให้มีตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อระดับหรือวิทยฐานะของผู้อำนวยการ สพท.ที่ยังต้องทำผลงานหรือทำวิทยฐานะเชี่ยวชาญเป็นส่วนตัวเอง ซึ่งต่างจาก ศธจ. ที่เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งจะเป็นระดับเชี่ยวชาญโดยไม่ต้องทำวิทยฐานะ ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับประกาศ ศธ.ฉบับนี้ จึงจะห็นได้ว่า บรรดา ผอ.สพท.จึงไม่ค่อยมีปฏิกิริยาต่อประกาศฉบับนี้เท่าไร สิ่งที่ตนอยากฝากก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะบริหารจัดการงานตามประกาศ ศธ.เรื่องการแบ่งส่วนราชการภายในของ สพท.ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะขณะนี้ได้เกิดประเด็นปัญหาเรื่องคนที่มีการโยกย้าย ตัดโอนจาก สพท.ไป ศธจ.จำนวนหนึ่งแล้ว และทราบว่าจะมีการดึงอัตราเกษียณจาก สพท.ไป ศธจ.อีก ขณะนี้เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่าง สพท. กับ ศธจ.ไปอีกแล้ว การมีประกาศแบ่งส่วนราชการภายใน สพท.ที่สวยหรูฉบับนี้ ดูเหมือนว่าจะมีคนที่ได้ตำแหน่งใหญ่ขึ้น เพิ่มขึ้น แต่ตนไม่แน่ใจว่าจะส่งผลต่อการให้บริการต่อเพื่อนครูและผู้บริหารสถานศึกษาได้ดีมากขึ้นแค่ไหน และจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนหรือไม่
“ทางออกที่ดี ผมว่าต้องทบทวนระบบการบริหารระบบใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงาน ศธจ.ว่าจะเดินไปในทิศทางใด จะคงทั้ง 2 หน่วยงานอยู่แบบนี้ หรือจะยุบหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือจะยุบทิ้งทั้ง 2 หน่วยงาน” นายอดิศรกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การเพิ่มกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกลุ่มพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลต่อการเพิ่มระดับ (ซี) ของผู้อำนวยการกลุ่ม ทำให้ผู้อำนวยการกลุ่ม มีโอกาสเป็นชำนาญการพิเศษหรือเทียบเท่าซี 8 ทั้งนี้ การเพิ่ม 2 กลุ่มงาน ใน 225 เขตทั่วประเทศ จะทำให้ผู้อำนวยการกลุ่มที่มีโอกาสโตขึ้นเป็นซี 8 เพิ่มขึ้นอีก 450 คน โดยหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดให้ต้องมีลูกน้องไม่ต่ำกว่า 4 คน ซึ่งคาดว่าจะมีการโยกข้าราชการจากกลุ่มงานอื่นซึ่งผู้อำนวยการกลุ่มมีซี 8 อยู่แล้ว มาอยู่ในกลุ่มใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ ก.พ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 5 ธันวาคม 2560 - 11:24 น.