โพสต์โดย : Admin เมื่อ 1 ธ.ค. 2560 08:29:42 น. เข้าชม 166451 ครั้ง
ภาพประกอบ มติชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.)ได้ทำหนังสือถึงนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อตอบคำถามนพ.ธีระเกียรติ กรณีตั้งประเด็นคำถามผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ว่า “รวมตัวขับไล่ศึกษาธิการจังหวัด ทำแล้วได้อะไร” ทั้งนี้ภายหลังชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย(ชร.ผอ.สพท.) ออกมาให้ข่าวว่า ได้รวบรวมรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง 50,000 ชื่อเพื่อเสนอให้นพ.ธีระเกียรติ พิจารณายกเลิกข้อที่ 13 ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ. ที่ระบุให้มอบอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53(3)และ(4)แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้แก่ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)
โดยหนังสือดังกล่าว มีใจความว่า “กระผมขอกราบเรียนว่ากระผมเชื่อโดยสนิทใจว่า ฯพณฯ อยากได้คำตอบจริงๆ ดังนั้นกระผมจะขออนุญาตตอบคำถามนี้ เป็นคำตอบส่วนตัวและเป็นคำตอบที่ตอบด้วยความเคารพจริงๆ ดังนี้ หากการตอบคำถามของกระผมทำให้ ฯพณฯ ไม่พอใจ กระผมก็ต้องกราบขออภัยด้วยครับ
1. “รวมตัวขับไล่ศึกษาธิการจังหวัด ทำแล้วได้อะไร” กรณีนี้กระผมขอกราบเรียนว่ากระผมไม่เคยได้ข่าวหรือรับรู้มาเลยว่ามีคณะบุคคลใดหรือบุคคลใดรวมตัวกันขับไล่ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ท่านใดเลยนะครับ ทั้งนี้เพราะท่านศึกษาธิการจังหวัดทุกท่านล้วนแล้วแต่ก็เป็นผู้ที่มีความรู้มีประสบการณ์สูงๆ ในศาสตร์ของท่านทั้งหลายเหล่านั้น หลายท่านก็เป็นพี่น้องเพื่อนฝูงกัน หลายท่านก็เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา และที่สำคัญ คือ ทุกท่านไม่ได้เข้ามาเป็นศึกษาธิการจังหวัดในช่องทางที่ไม่ถูกต้องเลยนะครับ จึงขอกราบเรียนให้ทราบว่าข้อมูลที่มีการสื่อสารกันไปนั้น มีความคลาดเคลื่อนครับ แต่สิ่งที่พวกกระผมตั้งใจทำ ไม่ได้แอบทำ ไม่ได้ทำไปก้มหน้าไป ไม่ได้ทำลงไปแล้ว อายฟ้าดินก็คือ…
2. พวกกระผมขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ ได้โปรดดำเนินการให้ท่านศึกษาธิการจังหวัดซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความสามารถสูงมาก ได้โปรดไปทำหน้าที่ด้านนโยบาย ด้านการกำกับติดตาม ด้านการคิดสร้างแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดที่ท่านเหล่านั้นประจำการอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นมีวิทยฐานะเชี่ยวชาญและอยู่ในระนาบบริหาร อย่าได้ให้ท่านต้องมาเสียเวลาในเรื่องการบริหารบุคคลในจังหวัดเลย เพราะหากมาหมกมุ่นอยู่กับการบริหารคน ก็จะไม่มีเวลาคิดแนวทางในการพัฒนาเนื่องจากติดกับดักในเรื่องของคน ทุกวันนี้ท่านทั้งหลายเหล่านี้ได้รับมอบหมายหน้าที่ในการบริหารคนโดยดึงอำนาจจากผู้บังคับบัญชาเดิมเขาไปเสีย ทำให้ผู้บังคับบัญชาเดิมที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารโรงเรียนและข้าราชการครูในแต่ละเขตพื้นที่ ต่างก็ทำงานลำบากเพราะท่านให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ไปออกรบเพื่อหวังผลในเรื่องคุณภาพการศึกษา แต่ท่านกลับไม่ให้อาวุธกับนักรบเหล่านั้น แล้วพวกท่านเหล่านั้นจะทำอย่างไรครับ
3. ท่านถามว่า “เด็กนักเรียนจะได้อะไร” ผมจะขอกราบเรียนตอบแบบ Reverse นะครับว่า การที่ท่านตัดอำนาจตามมาตรา 53 ออกจาก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ แล้วท่านให้อำนาจตามมาตรา 53 ไปที่ศึกษาธิการจังหวัดนั้น “เด็กๆ นักเรียน จะได้อะไร” นะครับ ดังนี้
3.1 ผอ.เขตฯเป็นผู้ที่ใกล้ชิดโรงเรียนที่สุด ใกล้ชิดครูและผู้บริหารที่สุด ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา มาบัดนี้ ผอ.เขตฯ เป็นผู้บังคับบัญชาแต่เพียงชื่อ แต่บทบาทและฐานะเป็นเสมือนศึกษานิเทศก์ อย่างนี้จะไปบริหารอะไรได้ครับ เมื่อไม่มีอานาจ ความเคารพนับถือความเชื่อถือก็ลดลงไป โอกาสในการไปใส่ใจด้านคุณภาพผู้เรียนก็ลดลงเพราะไปรบแบบไม่มีอาวุธ เด็กๆ ที่ควรจะได้อะไร ก็ไม่ได้น่ะครับ เปรียบเสมือนกับท่านรัฐมนตรี น่ะครับ ยามนี้ท่านมีอำนาจอยู่ในมือ ท่านก็บริหารและสั่งการได้อย่างสะดวก เป็นไปดั่งใจของท่าน แต่วันไหนก็ตามที่ท่านพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯ แล้วท่านยังอยากดูแลด้านการศึกษาอีกต่อไป ท่านคิดหรือไม่ครับว่าใครจะฟังและเชื่อถือท่าน แม้ท่านจะเป็นคนดีมีความสามารถก็ตาม ทำกันอย่างนี้แล้ว “เด็กๆ นักเรียนได้อะไรครับ”
3.2 ขณะนี้ความแตกแยกความบานปลาย ระหว่างโรงเรียน + ผอ. เขตฯ กับ ศึกษาธิการจังหวัดนับวันจะปริรอยร้าวขึ้นขยายเป็นวงกว้างขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้ความคาดหวังของท่านที่จะให้มีการบูรณาการด้านการศึกษาในจังหวัดนั้น มันจะเป็นไปได้ยากนะครับ เพราะสิ่งที่เคยอยู่ในมือของคนๆ หนึ่งถูกแย่งชิงไปใส่มือของคนอีกคนหนึ่ง ความปรองดองมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ เมื่อมันเป็นแบบนี้แล้ว “เด็กๆ นักเรียนได้อะไรครับ”กระผมขอใช้สติปัญญาอันน้อยนิดกราบเรียนเสนอแนะครับว่าดึงเอาอำนาจตามมาตรา 53 คืน ผอ. เขตฯ เขาไปเถอะครับ แล้วท่านก็ไปเพิ่มอะไรต่ออะไรให้กับท่านศึกษาธิการจังหวัดให้มากเพื่อจะได้ทำงานได้ รับรองว่าไม่มีใครว่าไม่มีใครขัดแย้งกันแน่นอนครับ
3.3 ศึกษาธิการจังหวัดเป็นข้าราชการสังกัด “สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ” แต่ ผอ.เขตฯ และข้าราชการครูในโรงเรียน เป็นข้าราชการสังกัด “สานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” จู่ๆ ก็ให้ข้าราชการต่างกรมมามีอำนาจบังคับบัญชา เมื่อเป็นอย่างนี้ไม่มีใครยอมรับกันได้หรอกครับ ขวัญกำลังใจสูญหายไปหมดทั้งเขตพื้นที่และโรงเรียน อย่างนี้แล้ว “เด็กๆ นักเรียนได้อะไรครับ”
3.4 ภารกิจของเขตพื้นที่ในเรื่องของการดูแลให้บริการโรงเรียนและนักเรียนยังคงมีอยู่เท่าเดิมเหมือนเดิม แต่จู่ๆ ก็มีการตัดอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่ ไปให้ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ส่งผลให้คุณภาพของการทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลดลง แล้วอย่างนี้ “เด็กได้อะไรครับ”
3.5 มีการตัดอัตรากำลังครูที่เกษียณอายุราชการประมาณพันกว่าคนซึ่งควรจะคืนสู่โรงเรียน แต่กลับนำอัตรากำลังดังกล่าวไปให้เป็นอัตรากาลังของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด/สำนักงานศึกษาธิการภาค ทำอย่างนี้แล้ว “เด็กๆ นักเรียนได้อะไรครับ”
3.6 การให้มีศึกษาธิการจังหวัด/ศึกษาธิการภาค ก็จะต้องจัดสรรเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง รถประจำตำแหน่ง สำนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาล แต่เมื่อมีแล้ว “เด็กๆ นักเรียนได้อะไรครับ”
3.7 การมีศึกษาธิการจังหวัด/ศึกษาธิการภาค ส่งผลให้งานบริการด้านการศึกษาเร็วขึ้นหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่กระผมสดับตรับฟังมาพบว่า งานช้าลงครับเพราะเป็นงานซ้ำซ้อน และที่สาคัญคือท่านศึกษาธิการจังหวัดยังต้องไปเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เนื่องจากศึกษาธิการจังหวัดไม่มีอัตรากำลัง ไม่มีงบประมาณ สุดท้ายคือก็ต้องมาลงที่โรงเรียน ครู นักเรียน และเงิน ที่จะต้องไปบริการให้จังหวัด ทำอย่างนี้แล้ว “เด็กๆ นักเรียนได้อะไรครับ”
ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะสื่อสารไปน่ะครับแต่เกรงว่าท่านจะไม่สบายใจ กระผมก็จึงขอกราบเรียนท่านแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ และขอได้โปรดอย่าถือโทษโกรธเคืองกระผมเลยครับ ขอกราบเรียนมาด้วยความเคารพจริงๆ ครับ อ้อ ท่านครับ สิ่งที่นักเรียนได้มากที่สุดในยุคที่ท่านมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือท่านเป็นบุคคลตัวอย่างแห่งความซื่อสัตย์ ครับ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 - 17:09 น.