โพสต์โดย : Admin เมื่อ 11 ก.ย. 2560 08:00:54 น. เข้าชม 166506 ครั้ง
เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎ ก.ค.ศ. คือกำหนดวงเงินงบประมาณและการบริหารวงเงินงบประมาณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการมีดังนี้ 1.กำหนดให้ส่วนราชการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในสังกัด ครั้งที่ 1 (1 เมษายน) และครั้งที่ 2 (1 ตุลาคม) ภายในวงเงินร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่จ่ายให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ วันที่ 1 มีนาคม และ 1 กันยายน ตามลำดับ
2.กำหนดให้ส่วนราชการบริหารวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนในภาพรวมของส่วนราชการหรือเขตพื้นที่การศึกษา
3. กำหนดการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เลื่อนตามผลงาน คือ ผู้ได้รับเงินเดือนในอัตราเดียวกัน มีผลงานเท่ากัน ควรได้รับเงินเดือนเป็นมูลค่าที่เท่ากัน และผู้ได้รับเงินเดือนใน ต่างอันดับกัน หรือมีผลงานต่างกัน ควรได้รับการเลื่อนเงินเดือนเป็นมูลค่าที่ต่างกัน
4.กำหนดกรอบวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนรายบุคคลไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณและช่วงเงินเดือนสำหรับการเลื่อนเงินเดือนในแต่ละอันดับของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และยกเลิกโควตา 2 ขั้น ร้อยละ 15 ของจำนวนคน
5.กำหนดให้ส่วนราชการหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเลื่อนเงินเดือนในอัตราร้อยละที่แตกต่างกันตามคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภายในกรอบวงเงินรวมร้อยละ 3 และกรอบวงเงินรายบุคคลร้อยละ 6 ในแต่ละรอบการประเมิน โดยจะใช้วิธีการเฉลี่ยให้ข้าราชการแต่ละคนได้รับการเลื่อนเงินเดือนในอัตราที่เท่ากันไม่ได้
ข้อกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน มีดังนี้ 1.กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนเป็นร้อยละของฐานในการคำนวณที่กำหนดไว้ตามช่วงเงินเดือนในแต่ละอันดับเงินเดือน 2.กำหนดให้เลื่อนเงินเดือนข้าราชการแต่ละคนเป็นร้อยละเท่าใดจะต้องสอดคล้องกับคะแนนผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการผู้นั้น
3.กำหนดให้ผู้ใดได้รับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับเงินเดือนที่ดำรงอยู่ให้ผู้นั้นได้รับค่าตอบแทนพิเศษ โดยเงินค่าตอบแทนพิเศษคิดเป็นร้อยละของฐานในการคำนวณที่กำหนดไว้ตามช่วงเงินเดือนและ ไม่นำมารวมเป็นเงินเดือนพื้นฐาน