โพสต์โดย : Admin เมื่อ 15 เม.ย. 2560 15:18:41 น. เข้าชม 166451 ครั้ง
กกอ.เปิดรายชื่อ 10 มหาวิทยาลัยเอกชน พร้อมหลักสูตรไม่ได้มาตรฐาน จี้1 แห่งที่ไม่ร่วมมือส่งข้อมูลด่วน ขู่มหา’ลัยเอกชนไหนจัดการไม่ดี สกอ.แจ้งความทันที เผยม.กรุงเทพธนบุรี พบปัญหามากที่สุด
วันนี้(12 เม.ย.)ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)โดยมีรศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เป็นประธาน จากนั้น ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยผลการประชุม กกอ. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเอกชนที่จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา และมติให้เปิดเผยรายชื่อ พร้อมหลักสูตรที่มีปัญหา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนไดรับทราบ หากเลือกเรียนแล้วอาจมีปัญหาเรื่องของคุณภาพ โดยมีมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา จำนวน 10 แห่ง ตรวจสอบแล้ว 9 แห่ง จำนวน 98 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตรและ นอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ดังนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์) ,หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม, หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร5ปี) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตร5ปี)) ,หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า 2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์และการแสดง , หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฎศิลป์ 4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต , หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต, หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต 6.วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน, หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้มีหลักสูตรนอกที่ตั้ง 5 มหาวิทยาลัย 78 หลักสูตร ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร 2.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร 3.วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร 4.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร และ5.สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาอีก 1 แห่งคือ มหาวิทยาลัยราชธานี ซึ่งไม่ได้ส่งข้อมูลให้ กกอ. ที่ประชุมจึงมีมติให้ สกอ.ทำหนังสือแจ้งมหาวิทยาดังกล่าว ให้ส่งเอกสารหลักสูตรให้กับ สกอ.ตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้น ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ติดต่อกลับมาว่าพร้อมให้ความร่วมมือ
“ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวได้มีการตรวจสอบช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งได้แจ้งว่ามีการปิดบางหลักสูตรไปแล้ว แต่เท่าที่มีการตรวจสอบเชิงลึกพบว่าบางหลักสูตรไม่ได้มีการปิดจริง กกอ.จึงมีมติให้ สกอ. ไปตรวจสอบอีกครั้งว่าหลักสูตรที่เปิดนั้นยังมีเด็กที่ยังเรียนอยู่หรือไม่ และถ้ามีอยู่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเรียนให้สอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ถ้าดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สกอ. แจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง กกอ. รวมทั้ง สกอ.จะต้องแจ้งมติที่ประชุม พร้อมการดำเนินการกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่ง ให้นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศีกษาธิการ รับทราบและมีคำสั่งให้จัดการกับมหาวิทยาลัยต่อไป ” เลขาธิการ กกอ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 12 เมษายน 2560 เวลา 18.07 น.
ด้าน มติชนออนไลน์ ก็ได้นำเสนอข่าวนี้ ด้งนี้
เปิดชื่อแล้ว!! กกอ.เปิดแล้ว 10 ชื่อ ‘ม.เอกชน’ จัดการศึกษาไร้คุณภาพ พร้อมเผย 98 หลักสูตรใน-นอกที่ตั้งไม่ได้มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่มีคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธาน กกอ.เป็นประธาน ได้พิจารณามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีผู้ร้องเรียนว่าจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา โดยมีมติให้เปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัย และหลักสูตรที่มีปัญหา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้รับทราบ เพราะถ้าเลือกเรียนแล้วอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหา 10 แห่ง ใน 98 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร และหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 6.วิทยาลัยทองสุข 7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 9.สถาบันรัชต์ภาคย์ และ10.มหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี
“ข้อมูลดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ตรวจสอบตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559 ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ มีอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบตามที่กำหนด และรับนักศึกษาเกินจำนวนที่แจ้งไว้ ทั้งนี้ ในบางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าปิดบางหลักสูตรไปแล้ว แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ปิดจริง ดังนั้น กกอ.มีมติให้ สกอ.ลงไปตรวจสอบอีกครั้ง เช่น เปิดเพราะมีนักศึกษาค้างท่อหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานให้ สกอ.แจ้งความดำเนินคดี” นายสุภัทร กล่าว
นายสุภัทรกล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยราชธานี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยส่งข้อมูลใดๆ ให้ สกอ.ดังนั้น กกอ.จึงมีมติให้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยให้ส่งข้อมูลมาให้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยประสานว่าจะจัดส่งข้อมูลแก่ สกอ.โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สกอ.จะรายงานมติดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทราบ และมีคำสั่งเพื่อดำเนินการกับมหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งต่อไป
สำหรับ 20 หลักสูตรในที่ตั้ง พบปัญหาใน 8 มหาวิทยาลัย ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2553) หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2550) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556) หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและคอมพิวเตอร์ (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2558) ,หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) และหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554)
2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556)
3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์และการแสดง (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2556) หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการแสดงและนาฎศิลป์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557)
4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2558) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556)
5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2557)
6.วิทยาลัยทองสุข 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555) หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555)
7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2555) และ
8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2555)
สำหรับหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร พบปัญหาใน 5 มหาวิทยาลัย ดังนี้
1.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 15 ศูนย์ 26 หลักสูตร
2.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 1 ศูนย์ 2 หลักสูตร
3.วิทยาลัยทองสุข 7 ศูนย์ 11 หลักสูตร
4.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา 5 ศูนย์ 22 หลักสูตร
5.สถาบันรัชต์ภาคย์ 11 ศูนย์ 17 หลักสูตร
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 12 เม.ย. 60 เวลา: 18:41 น.