โพสต์โดย : Admin เมื่อ 29 มิ.ย. 2560 08:48:03 น. เข้าชม 166453 ครั้ง
‘มีชัย ฤชุพันธ์’ ชี้แจงเจตนารมณ์ รธน.ต่อบอร์ดอิสระฯ ย้ำใช้เวลา 2 ปี คิดและวางกลไกที่ชัดเจน เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทางรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 54
วันนี้( 27 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่มี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ได้เชิญ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เข้าให้ข้อมูลโดย นายมีชัย ได้ชี้แจงประเด็นการศึกษาไทยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่า เจตนารมณ์ของ กรธ.ให้ความสำคัญการปฏิรูปด้านการศึกษาและบัญญัติแนวทางชัดเจนตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 54 ซึ่งให้ความสำคัญการพัฒนาคนเป็นอันดับแรกในการปฏิรูปประเทศ และ เสริมสร้างวินัยที่ดี เพื่อสังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงต้องสร้างวินัยตั้งแต่เด็ก โดย มาตรา 54 วรรค 1 ระบุว่า รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ดังนั้น เจตนารมณ์ของ กรธ. มองว่าระบบการศึกษาไทยเปรียบเสมือนอาคารที่ถูกสร้างและแบ่งเป็นท่อน ต่างฝ่ายต่างทำในส่วนของตนเอง จึงต้องร่วมมือกันปฏิรูปการศึกษาไทยทั้งระบบ ภายใต้แนวคิดว่าเราทุกคน คือ คนไทยต้องลืมความเป็นกระทรวง หรือ หน่วยราชการเป็นเหมือนกระดาษขาว และขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้บรรลุเป้าหมายที่บัญญัติในมาตรา 54 วรรค 4 คือ การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งต้องคิดวางเป้าหมายใหญ่ วางกลไกขับเคลื่อนไปให้ถึงผ่านทางคณะกรรมการอิสระฯ ว่า เราต้องการให้เด็กไทยเป็นอย่างไร มีกลยุทธ์ใดเพื่อบรรลุเป้าหมาย และสิ่งใดที่ต้องสอดใส่เข้าไปให้เกิดผล
นายมีชัย กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่มองว่ามีผลต่อการปฏิรูปการศึกษามี 3 เรื่อง คือ 1.หลักสูตรการศึกษา ทำอย่างไรไม่ให้ยัดเยียดวิชาความรู้ให้เด็กเหมือนปัจจุบัน แต่ต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็น โดยเฉพาะการยกระดับพัฒนาคุณภาพครู และสถาบันผลิตครูให้มีความเข้มแข็ง ลดภาระการทำผลงานวิชาของครูเพื่อพัฒนาการสอนเด็กอย่างเต็มที่ เพิ่มค่าตอบแทนครูมากขึ้น 2.อุปกรณ์การศึกษา ต้องสอดคล้องแนวทางมาตรา 54 เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ ตามความถนัดของตน ไม่ใช่บังคับเด็กเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบหรือตามกระแสสังคม แต่ต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนในสิ่งที่ตนเองถนัดและชอบสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และ 3.งบประมาณการศึกษา ถูกทุ่มเทไปกับค่าตอบแทนครูมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือถูกใช้ไปกับการสนองนโยบายการศึกษาของฝ่ายการเมือง ซึ่งจำเป็นต้องปรับระบบกันใหม่ ขณะที่สถานศึกษาที่มีเด็กต่ำกว่า 50 คน มีมากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ต้องเปลี่ยนเป็นสถานดูแลเด็กเล็ก หรือศูนย์ดูแลเด็กอนุบาลที่พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน
“การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตามมาตรา 54 วรรค 6 เพื่อตอบโจทย์สำคัญ คือ เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาตามความสามารถ เชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องครอบคลุมทุกระบบการศึกษา โดยกองทุนช่วยเหลือไม่ใช่แค่ค่าเล่าเรียนเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงค่ายังชีพ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อการศึกษาทั้งหมด กองทุนดังกล่าวถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการศึกษาของเด็กในท้องถิ่น และขอฝากคณะกรรมการอิสระฯ ที่มีกรอบระยะเวลาทำงาน 2 ปี ขอให้ช่วยคิดและวางกลไกที่ชัดเจนเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทางรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป” นายมีชัย กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2560 เวลา 17.00 น.
อ่านต่อได้ที่ : http://www.kroobannok.com/82312