โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 เม.ย. 2561 14:46:43 น. เข้าชม 166544 ครั้ง
ระยะนี้เป็นช่วงของเทศกาลประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลื่อน เงินเดือนไม่ชอบหรือไม่เป็นธรรม เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองอยู่ไม่น้อย..
กรณีฟ้องเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคําสั่งเลื่อนเงินเดือนนั้น เหตุผลหนึ่งที่ผู้บังคับบัญชามัก นํามาใช้อ้างในการไม่เลื่อนเงินเดือนนอกเหนือจากเรื่องของผลการปฏิบัติงานแล้วก็คือ ความประพฤติหรือ พฤติกรรมของผู้ถูกประเมิน เช่น มีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งคดีที่ครองธรรมนํามาฝากใน วันนี้ เป็นตัวอย่างการพิจารณาพฤติการณ์กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา และคดีนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นการ ตรวจสอบความชอบของคําสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนด้วย มาดูรายละเอียดของคดีกันครับ
เรื่องมีว่า...นายเรืองยศ ซึ่งดํารงตําแหน่งรองปลัดเทศบาลตําบลบ้านเก่า ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ปลัดเทศบาลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาระดับต้นได้ประเมินผลการ ปฏิบัติงาน โดยให้คะแนน 120 คะแนน จาก 200 คะแนน และเสนอให้เลื่อนขั้น 0.5 ขั้น (ตามระบบเดิมที่ใช้ ขั้นเงินเดือน) แต่นายกเทศมนตรีตําบลบ้านเก่า ในฐานะผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปมีความเห็นแตกต่าง โดยได้ ประเมินลดคะแนนในส่วนของการรักษาวินัยและการประพฤติตนเหมาะสมแก่การเป็นข้าราชการลง ทําให้นาย เรืองยศได้คะแนนประเมิน 112 คะแนนจาก 200 คะแนน จึงเป็นกรณีต่ํากว่าร้อยละ 60 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สมควร ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน โดยให้เหตุผลว่า นายเรืองยศประพฤติตนกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เป็นตัวอย่าง ที่ดีในการเคารพกฎ ระเบียบแบบแผนของทางราชการ
ต่อมาคณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินฯ ได้ประชุมแล้วมีมติเห็นชอบตามความเห็นของ นายกเทศมนตรีฯ เนื่องจากเห็นว่าได้มีการพิจารณาโอนย้ายนายเรืองยศไปช่วยราชการที่เทศบาลตําบลบ้านใหม่ ต่อมาเมื่อครบกําหนดแล้วนายเรืองยศได้กลับมาปฏิบัติราชการที่เทศบาลตําบลบ้านเก่าดังเดิม โดยที่ไม่ได้ไป รายงานตัวต่อผู้บริหาร (นายกเทศมนตรี) อันเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จึงมีคําสั่งเลื่อนขั้น เงินเดือนพนักงานเทศบาลแต่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้นายเรืองยศ
นายเรืองยศจึงได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลฯ ซึ่งได้มีมติยกคําร้องทุกข์ นายเรืองยศจึงนําเรื่องมาฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคําสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน ดังกล่าว
กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของเทศบาล ได้กําหนดให้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเทศบาล ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโดยคํานึงถึงคุณภาพและปริมาณงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน ความสามารถและความอุตสาหะ คุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนการรักษา วินัยและการปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นพนักงาน โดยต้องมีผลการประเมินไม่ต่ํากว่าร้อยละ 60 และต้อง ไม่ถูกลงโทษทางวินัยในรอบที่ประเมินหนักกว่าโทษภาคทัณฑ์
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเทศบาล ครั้งที่ 1 ในรอบ ปีงบประมาณตามที่พิพาทนั้น นายกเทศมนตรีฯ ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองผลการประเมิน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของพนักงานเทศบาล ซึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าว นายกเทศมนตรีฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีการให้จัดทําข้อตกลงในการปฏิบัติงานของพนักงานเทศบาล รวมทั้งผู้ฟ้องคดี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเทศบาลที่กําหนดไว้ อีกทั้ง นายกเทศมนตรีฯ มิได้นําระบบเปิดมาใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามหนังสือสํานักงาน ก.ท. ที่ มท 0313.3/ว 462 ลว 30 มีนาคม 2541 กล่าวคือ มิได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการ ปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน มิได้แจ้งผลการประเมินให้ผู้ถูกประเมินทราบเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะ อย่างยิ่งมิได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจง ให้ความเห็นหรือขอคําปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินและผลการประเมิน ก่อนที่จะมีคําสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือน รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งไม่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น เงินเดือนเข้าพบในทันทีที่ได้รับทราบผลการพิจารณา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดหรือหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
การที่นายกเทศมนตรีฯ ประเมินผู้ฟ้องคดีว่าอยู่ในข่ายที่ต้องปรับปรุง โดยอ้างว่าได้พิจารณาถึงงานและ คุณภาพงานรวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของงานแล้ว ทั้งที่มิได้มีการจัดทําข้อตกลงในการปฏิบัติงานเพื่อใช้ประกอบการ พิจารณา กรณีจึงยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนอันจะยืนยันได้ว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงจริง หรือไม่ นอกจากนี้การนําผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีในปีงบประมาณก่อนหน้ามาประกอบการพิจารณาเลื่อน เงินเดือนในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลฯ ซึ่งกําหนดให้ใช้ผลการปฏิบัติงานเฉพาะในรอบนั้นๆ มาพิจารณา
ประกอบกับตามที่อ้างว่าผู้ฟ้องคดีประพฤติตนกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา อันมีสาเหตุมาจาก เมื่อครบกําหนดที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยราชการที่หน่วยงานอื่นแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้กลับมาปฏิบัติราชการที่เทศบาลตําบล บ้านเก่า โดยได้ไปรายงานตัวต่อปลัดเทศบาลฯ แต่มิได้ไปรายงานตัวต่อนายกเทศมนตรีฯ ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ของเทศบาล ซึ่งศาลได้พิจารณาข้อกําหนดในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 48 สัตตรส ที่ได้ กําหนดให้นายกเทศมนตรีฯ เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาลก็ตาม แต่ในมาตรา 48 เอ กูนวีสติ ก็ได้บัญญัติว่า ให้มีปลัดเทศบาลคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาลรอง จากนายกเทศมนตรีฯ เช่นกัน และกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใด ที่กําหนดไว้ว่าผู้ฟ้องคดีจะต้องไป
รายงานตัวต่อนายกเทศมนตรีฯ ด้วย และไม่มีคําสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายกเทศมนตรีฯ ว่าหากมีเจ้าหน้าที่ เข้ามาปฏิบัติงานที่เทศบาลจะต้องไปรายงานตัวต่อนายกเทศมนตรีฯ เท่านั้น ทั้งนี้การรายงานตัวต่อ ผู้บังคับบัญชาเป็นไปเพื่อที่จะให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบว่ามีเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานใหม่ เพื่อที่จะได้ มอบหมายงานให้ปฏิบัติต่อไปเท่านั้น
การที่ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวต่อปลัดเทศบาลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นและผู้ฟ้องคดีก็เข้าใจว่าได้ไป รายงานตัวตามขั้นตอนของกฎหมายและแบบธรรมเนียมโดยปกติแล้ว พฤติการณ์และการกระทําของผู้ฟ้องคดีจึง ยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา โดยประพฤติผิดระเบียบแบบแผนของทางราชการ การที่นายกเทศมนตรีฯ นําพฤติกรรมดังกล่าว มาเป็นเหตุไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย
ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเข้าร่วมประชุมสภาเทศบาลหรือประชุมคณะเทศมนตรี หรือหัวหน้า ส่วนราชการเลย เป็นการจงใจไม่เข้าร่วมประชุม ถือเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาด้วยนั้น เมื่อข้อเท็จจริง ผู้ฟ้องคดีไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งให้เข้าประชุมและไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เข้า ประชุม หรือปฏิบัติราชการแทนปลัดเทศบาลฯ พฤติการณ์ไม่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่อาจถือ ได้ว่าผู้ฟ้องคดีกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระด้างกระเดื่องกับผู้บังคับบัญชา มิได้มีการดําเนินการสอบสวนทางวินัยแต่อย่างใด ซึ่งนายกเทศมนตรีฯ ได้ยอมรับว่ามีแต่เพียงการว่ากล่าวตักเตือน ผู้ฟ้องคดีด้วยวาจา เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวเองเท่านั้น จึงมิใช่กรณีถูกลงโทษทางวินัยที่หนักกว่า โทษภาคทัณฑ์ ที่จะอยู่ในเกณฑ์ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนได้
จะเห็นได้ว่า คดีนี้นอกจากศาลจะเห็นว่าเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อ้างว่าผู้ฟ้องคดี กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาจะรับฟังไม่ได้แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังดําเนินกระบวนการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ประการสําคัญการจะอ้างในเรื่องของการประพฤติ ตนกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชานั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอ หรือมีการดําเนินการทางวินัยอย่าง ถูกต้อง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันมิให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ในฐานะที่ เหนือว่า ใช้อํานาจกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาได้ตามอําเภอใจนั่นเองครับ
ครองธรรม ธรรมรัฐ
ขอบคุณที่มา : ศาลปกครองสูงสุด เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ 0 2141 1111