โพสต์โดย : Admin เมื่อ 19 ธ.ค. 2559 11:17:51 น. เข้าชม 166457 ครั้ง
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดกระแสการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทความทางวิชาการ 2 ชิ้น ของนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ 2 มหาวิทยาลัยดัง ได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง “การตอบโต้และตอบสนองต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบตะวันตก ของเจ้านายฝ่ายในในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2349-2468)” โดย วรรณพร บุญญาสถิตย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2548 และวิทยานิพนธ์เรื่อง “ความคิดทางการเมืองในวรรณกรรมไทย: ศึกษากรณีนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”โดย สุวิมล อิสระธนาชัยกุล คณะศิลปศาสตร์ (รัฐศาสตร์) ม.เกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2545
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าว เกิดจากมีผู้ค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการในประเด็นด้านประวัติศาสตร์ แล้วพบความคล้ายคลึงระหว่างบทความชิ้นหนึ่ง กับวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ไปจนถึงเนื้อหา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก จากนั้น จึงทดลองค้นหาบทความเพิ่มเติมจากนักวิจัยกลุ่มดังกล่าว พบว่า ยังมีบทความที่คล้ายคลึงกับวิทยานิพนธ์อีก 1 ชิ้น จึงแจ้งให้แวดวงวิชาการสายสังคมศาสตร์รับทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
ต่อมา มีนักวิชาการนำประเด็นดังกล่าวเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก พร้อมลิ้งก์บทความ 2 ชิ้น พร้อมลิ้งก์วิทยานิพนธ์ 2 เล่ม เพื่อให้บุคคลต่างๆร่วมกันเปรียบเทียบความคล้ายคลึง
หลังจากนั้น ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ว่ามีความคล้ายคลึงกันจริง จนสามารถใช้คำว่าคัดลอก จึงมีการถามหาถึงจรรยาบรรณของนักวิจัย ซึ่งมีทั้งสิ้นถึง 6 ราย เนื่องจากบทความแต่ละชิ้น มีการใส่รายชื่อชิ้นละ 3 ราย และ 4 ราย โดยมี 1 ราย ที่มีชื่อปรากฏทั้ง 2 ชิ้น
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news/399499