โพสต์โดย : Admin เมื่อ 7 ก.พ. 2560 11:51:30 น. เข้าชม 166440 ครั้ง
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ประกาศหยุดทำการเรียนการสอนในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ เนื่องจากพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ เอ ว่า การปิดโรงเรียนถือเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ให้แพร่กระจาย แต่ที่ดีที่สุดคือ หากพบว่าลูกหลานเริ่มมีอาการไข้ พ่อแม่ควรให้หยุดเรียนทันที หรือหากโรงเรียนพบว่าเด็กนักเรียนมีอาการไข้ แม้จะไข้ต่ำๆก็ควรแจ้งผู้ปกครองและให้หยุดพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น ดีกว่ามีการติดต่อไปยังเด็กอื่นๆจนต้องปิดโรงเรียน
“จริงๆแล้วการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่มากขึ้นในปีนี้ เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งทาง คร.ได้ประกาศเตือนแนวโน้มโรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2560 คือ โรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากพบมากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา” รองอธิบดี คร.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเกณฑ์ในการพิจารณาหรือไม่ว่า เด็กป่วยกี่คนจึงต้องปิดโรงเรียน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ไม่มีตัวเลขสากลขนาดนั้น แต่จากตัวอย่างเมื่อครั้งเกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 จะใช้วิธีพิจารณาว่า หากเด็กนักเรียนหายไปร้อยละ 10-20 ยกตัวอย่าง ในห้องเรียนมีนักเรียน 40 คน แต่เด็กขาดเรียนหรือป่วยไป 15 คนก็ถือว่าต้องสั่งหยุดเรียนชั่วคราว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ต้องการให้ถึงขั้นนี้ เพราะโรคนี้ป้องกันได้ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการลูก หากมีไข้ก็ควรให้หยุดเรียน
เมื่อถามว่า ขณะนี้ คร.ได้รับรายงานหรือไม่ว่า มีโรงเรียนกี่แห่งต้องปิดเรียนชั่วคราว นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทราบว่าในกทม.มีประมาณ 3-4 แห่ง ขณะที่ในภูมิภาคมีประมาณ 1-2 แห่ง ซึ่งหลายแห่งเปิดเรียนตามปกติแล้ว สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น จะมีการฉีดให้ 2 ช่วง คือ ช่วงแรกประมาณเดือนเมษายน และช่วงที่2 คือ ช่วงเดือนตุลาคม จริงๆแล้วจะฉีดช่วงไหนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ
อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา คร. ที่มีการพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปี 2559 ระบุว่า ในปี 2560 ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะพบมากขึ้น เนื่องจากเริ่มพบมากตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยพบผู้ป่วยถึง 156,943 ราย เสียชีวิต 43 ราย จึงคาดว่า ปี 2560 จะมีผู้ป่วยประมาณ 320,000 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคปอด โรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยมักมีการระบาดใหญ่ในช่วงหน้าฝน เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แล้วค่อยมาระบาดเล็กๆ อีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดังนั้นการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงควรฉีดช่วงก่อนเข้าหน้าฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือก่อนเปิดเทอม ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศส่วนมากเป็นเอช 3 เอ็น2 (H3N2) ซึ่งวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคนั้นก็ถือว่ามีความครอบคลุมเรื่องการป้องกันโรคได้ แต่ก็ป้องกันได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 7 ก.พ. 60