โพสต์โดย : Admin เมื่อ 1 ก.พ. 2560 11:48:31 น. เข้าชม 166373 ครั้ง
ปฏิเสธกันไม่ได้อีกแล้ว กับการรุกคืบของระบบไอทีและดิจิทัลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้ ทุกนาทีทุกชั่วโมง คนจำนวนมากเฝ้าจดจ้องและติดตามความเคลื่อนไหวใกล้ตัวผ่านระบบต่าง ๆ เหล่านี้ แต่กว่าข้อมูลและข่าวสาร จะประมวลถึงผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ มีขั้นตอนและผู้เกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องเตรียมการรองรับด้านกำลังคน เพื่อให้การเข้าขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมไทยแลนด์ 4.0 สมบูรณ์แบบที่สุดในปี 2560
นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่สถาบันจับมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เพื่อพัฒนามาตรฐานคนในอาชีพไอทีเป็นผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาคนในสายงานให้สอดคล้องกับแผนงานปี 2010-2020 ไปสู่ระบบดิจิตอลที่เรียกว่า Digital Economy และ E-Government โดยระยะแรก เราต้องการพัฒนาคนในสายอาชีพไอทีที่มีอยู่เดิมให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมภาครัฐและเอกชน มีอยู่ประมาณ 500,000 คน
"หลังจากที่เราทำมาตรฐานเสร็จแล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีบทบาทในการให้ความรู้และให้ข้อมูล เพื่อให้ประชากรหลักของประเทศ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคราชการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ชาวไร่ชาวนา มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ IT literacy และ Digital literacy ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งมาตรฐานนี้ คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2559 และสามารถใช้งานได้ในปี 2560 นี้ "
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การปูพื้นคนไทยให้มีความรู้ โดยคนไอทีข้างต้น จะต้องหาวิธีและดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนใช้งานเป็น ใช้งานได้ และสร้างภูมิความรู้ควบคู่กันไป รองรับการปรับเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีการปรับเปลี่ยนภาครัฐและราชการ เข้าสู่ยุค Digital Government และเป็นภาพที่ใหญ่กว่านโยบาย Electronic Government ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานราชการเพียง 1,000-2,000 คน เท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐ และบุคลากรในสังกัดส่วนงานราชการทุกคน จึงต้องมีการพัฒนาคนและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการพัฒนาการบริการไปสู่ Digital Economy และ E-Government อย่างเร่งด่วนที่สุด
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มมีการอบรมให้ความรู้กับส่วนราชการในสังกัดแต่ละกระทรวง ครั้งละ 40–50 คน เพื่อเตรียมความพร้อมส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วระยะหนึ่ง ฉะนั้นส่วนราชการหลักจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานระบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนของการให้บริการผ่าน E-Government ซึ่งขณะนี้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการพัฒนามาตรฐาน จากประเทศเกาหลี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอันดับ 1 ในโลกแล้ว โดยมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเจ้าภาพในการจัดทำมาตรฐาน เพื่อส่งต่อให้มหาวิทยาลัยนำไปอบรมตามหลักสูตรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทด้วย
ผอ.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวอีกว่า ในระยะยาว การพัฒนาเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะจบใหม่ โดยนำมาตรฐานของเราไปให้ทางสถานศึกษาเหล่านั้น ทั้งระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อเอาไปปรับหลักสูตรให้เด็กมีความสามารถในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งดำริของกระทรวงศึกษา ที่อยากให้เด็กมีการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพทุกคน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เราจึงของบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา อนุมัติให้ผู้เข้าทดสอบและประเมินผลจำนวน 310,000 คน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สามารถเข้าทดสอบได้ฟรี
"เน้นนักเรียน นักศึกษาและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น โลจิสติกส์และไอซีที เนื่องจากสาขาโลจิสติกส์ ครอบคลุมระบบงานหลายประเภท และประเทศไทยกำลังจะเป็นศูนย์กลางภูมิภาคของระบบโลจิสติกส์ในอนาคตด้วย ส่วนสาขาอาชีพไอที ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน จึงต้องให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ขณะนี้เราได้มีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 19 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทดสอบและประเมินผลด้านไอทีแล้ว"
ดังนั้น ถือเป็นการปูทางให้เด็กนักเรียนนักศึกษากว่าครึ่ง เข้าสู่ระบบทดสอบ คาดว่า ในปี 2560 จะเข้าสู่ระบบทดสอบทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นตัวกลางพิจารณาปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกมา เข้าสู่ระบบมาตรฐานเดียวกันที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจัดทำขึ้น โดยเฉพาะความสามารถ 2 อย่างที่ทุกคนต้องมี คือ ภาษาอังกฤษ และ Digital literacy โดยปัจจุบันมหาวิทยาหาลัยทั้ง 19 แห่งข้างต้น ได้มีนโยบายส่งเสริมให้ครูอาจารย์ ต้องผ่านการสอบในระดับหนึ่ง และต้องค่อยๆเพิ่มระดับขึ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมไทยแลนด์ 4.0 ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น ข้าราชการไทย 5 ล้านคนทั่วประเทศ ควรจะต้องมีความรู้เรื่อง IT literacy และ Digital literacy ส่วนชาวนา ชาวไร่ ก็ควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้สักระดับหนึ่งที่ไม่สูงมากนัก แต่ผู้ที่มีหน้าที่ถ่ายทอด เช่น ครูในสถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค ควรต้องผ่านการทดสอบ ซึ่งระยะแรกเด็ก ๆ อาจจะมองไม่เห็นความสำคัญ แต่ถ้าบริษัทในภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมและทดสอบคนในองค์กรให้ได้มาตรฐาน ในอนาคตการรับคนเข้าทำงานใหม่ ก็ต้องมีมาตรฐานเช่นกัน คนที่ผ่านการประเมินและทดสอบจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ดังนั้น ในอนาคตนักเรียน นักศึกษา ต้องมีความสามารถที่จะเป็นผู้ใช้งานไอทีและผ่านการทดสอบและประเมินผลทุกคน ขณะเดียวกัน การให้ความรู้และอบรมการประเมินผลกับคนที่อยู่ตามหมู่บ้าน ไม่ควรเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยปีนี้สถาบันได้จัดทำมาตรฐานอาชีพด้านนี้ไว้แล้ว 20 สาขาอาชีพ เมื่อผนวกกับนโยบายผลักดัน ประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560 อีก 25 สาขาอาชีพ จะทำให้มีมาตรฐานอาชีพเพิ่มขึ้นรวมกันถึง 45 สาขาอาชีพ เพื่อรองรับสังคมไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
ขอบคุณที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 31 มกราคม 2560