4 ธ.ค. 66 – นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับร้องเรียน กรณีมีการเรียกรับผลประโยชน์จากกรณีการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล
เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว 16/2557) ซึ่งทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ขอเตือนผู้ที่เตรียมตัวสอบอย่างไปหลงเชื่อ
เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือก มีความถูกต้อง โปร่งใสและเป็นธรรม ปราศจากการซื้อขายตำแหน่ง รวมถึงแก้ปัญหาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เปิดสอนให้ตรงกับสาขาวิชาเอกที่ขาดแคลน
“ขณะนี้สำนักงานก.ค.ศ. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยการปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ จะเน้นให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ยึดหลักธรรมาภิบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดสาขาวิชาเอกที่จะทำการคัดเลือกนั้นจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา สังกัดสพฐ.
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ใหม่จะมีการวางระบบในการตรวจสอบการกำหนดสาขาวิชาเอกในครั้งนี้อย่างเข้มงวด ไม่ให้ไปเปิดในสาขาที่ไม่ขาดแคลน โดยหากพบว่ามีการทุจริต หรือการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตจะมีดำเนินการอย่างเด็ดขาด” นายประวิต กล่าว
นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. กล่าวว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และขอเตือนผู้ที่เตรียมจะสมัครสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยทุกคนอย่าไปหลงเชื่อ เพราะสพฐ. และสำนักงานก.ค.ศ. อยู่ระหว่างการปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือก ดังนั้นจึงยังไม่มีปฏิทินการสอบออกมา ทั้งนี้หากจัดทำหลักเกณฑ์ และเสนอให้คณะกรรมการก.ค.ศ. เห็นชอบแล้ว คาดว่า จะสามารถรับสมัครได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
“สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสอบที่จะปรับครั้งนี้ จะแก้ปัญหาการทุจริต เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า บางเขตพื้นที่ฯ เปิดสอบในสาขาวิชาที่ไม่ได้ขาดแคลน เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคพวกของตัวเอง แต่หลักเกณฑ์ใหม่สพฐ. และก.ค.ศ. จะหามาตรฐานป้องกันเรื่องดังกล่าว รวมถึงอาจจะหารือว่า จะทำอย่างไรให้ข้อสอบได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
ซึ่งส่วนนี้อาจจะมีการปรับเป็นให้ส่วนกลางออกข้อสอบ จากเดิมที่ให้อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ออกเอง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องมาตรฐานและอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ซึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และสพฐ.ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นการปรับเกณฑ์ครั้งนี้จะอุดช่องทางดังกล่าว แต่ก็จะต้องดูให้เหมาะสม รอบคอบไม่ใช่แก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งแทน” นายสุรินทร์ กล่าว