โพสต์โดย : Admin เมื่อ 28 พ.ค. 2564 11:38:10 น. เข้าชม 166498 ครั้ง
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้แจ้งเข้าความดำเนินคดีกับโรงเรียนนอกระบบเถื่อน 38 แห่ง ใน 31 จังหวัด เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายังกระทรวงศึกษาธิการ ว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ใช้ชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลยีราฟ ส่งเสียงดัง สร้างความเดือดร้อนรำคาญ สช.จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในระบบฐานโรงเรียนเอกชน พบว่าไม่มีการอนุญาตให้โรงเรียนใด ใช้ชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลยีราฟ เมื่อตรวจสอบลงลึก และจากการสอบถามกับผู้ประกอบการโรงเรียน แจ้งว่า เป็นการซื้อแฟรนไชส์มาจากสาขาอุบลราชธานี จึงมอบให้ศึกษาธิการ จ.อุบลราชธานี ไปสืบหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยมีการอนุญาตให้เปิดโรงเรียนในชื่อดังกล่าว และยังพบว่า โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่ใช้ชื่อว่าแฮมโกร์วอิง ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทักษะชีวิตและภาษาอังกฤษ ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง นำไปเปิดขายแฟรนไชส์ทั่วประเทศในชื่อ โรงเรียนอนุบาลยีราฟ และเปิดสอนโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้ง ซึ่งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 120 การจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบต้องได้รับการอนุญาตจาก สช.หากไม่ได้รับอนุญาตถือว่ามีความผิดตามกฎหมายโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อขยายแฟรนไซส์แล้ว มีการโฆษณาเกินจริง ชวนลงทุนอ้างว่าจะช่วยสร้างแผนการตลาด ลงทุนในธุรกิจการศึกษา มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท มีโฆษณาทั้งทางทีวี และโซเชียล ค่าแฟรนไชส์ในการลงทุนอยู่ที่ 390,000 บาท ให้สิทธิ 1 อำเภอ 1 สาขา เปิดมาแล้ว กว่า 6 ปี ขายแฟรนไชส์ไปแล้ว 64 แห่ง สอนภาษาอังกฤษเด็กอายุ 4-12 ปีและยังมีแยกย่อยเป็นคอร์ส 5-6 ขวบ คอร์สละ 2,900 บาท 3-4 ขวบ คอร์สละ 1,500 บาท ดังนั้น สช.จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และมอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัด ทั้ง 31 จังหวัด เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับ โรงเรียนเอกชนนอกระบบดังกล่าว ซึ่งเปิดสอนโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีต่อไป
เลขาธิการ กช.กล่าวว่า สช.ไม่ได้ปฏิเสธ เรื่องของคุณภาพของการตั้งโรงเรียน แต่การเปิดโดยไม่ขออนุญาตถือเป็นการฝ่าฝืนกฏหมาย เดินหน้าดำเนินคดี กับทั้ง 38 สาขา ใน31จังหวัด ส่วน โรงเรียนแม่ ที่จ.อุบลราชธานี ทางศึกษาธิการจังหวัด เดินหน้าเอาผิดเต็มที่ เพราะเข้าข่ายความผิด การเปิดแฟรนไซส์โดยไม่ขออนุญาต แม้จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบอย่างถูกต้องก็ตาม ขณะเดียวกัน หลังจากที่ สช.ปูพรมตรวจสอบโรงเรียนเถื่อน หรือ ที่ไม่จดทะเบียน ทั่วประเทศ ช่วงโควิด พบว่ามีกว่า 1,000 แห่ง และสั่งปิดพร้อมดำเนินคดีไปแล้ว รวมถึงบางแห่งก็ปิดกิจการไปเอง
ทั้งนี้หากประชาชนต้องการตรวจสอบรายชื่อของโรงเรียนเอกชนว่า มีการจดทะเบียนถูกต้อง เป็นโรงเรียนเถื่อนหรือไม่ สามาถเข้าไปที่แอพลิเคชั่น สช. on mobile ได้เลย หรือาอบถามที่ส่ายด่วน 1579 ของกระทรวงศึกษาธิการ.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข่าวจาก : https://tna.mcot.net/social-704605