โพสต์โดย : Admin เมื่อ 17 พ.ค. 2564 07:13:57 น. เข้าชม 166502 ครั้ง
ลำปาง/เชียงราย - เครือข่ายสหพันธ์ครูหลายจังหวัดเคลื่อนไหว..ต้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ ชี้ใช้แนวทางซิงเกิลคอมมานด์ทำคลอด-ลดบทบาท/วิทยฐานะครู ผู้บริหาร กระทบคุณภาพการศึกษาไทย
สหพันธ์ครูภาคเหนือ และชมรมครูจังหวัดต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกำลังจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเสนอเข้าพิจารณาในรัฐสภา
นายธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานสหพันธ์ครูฯ ประธานชมรมครูลำปาง ระบุว่า เหตุผลที่ครูต้องออกมาร่วมกันคัดค้านร่างกฎหมายเพราะเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 และมาตรา 258 (จ) เนื่องจากมาตรา 54 ได้บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า จากรายงานการวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติมีข้อบ่งชี้ตรงกันว่า ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพที่เกิดแก่ผู้เรียน ที่สถานศึกษาหรือโรงเรียน
จากเดิมที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่กำลังมีผลบังคับใช้อยู่ มาตรา 53 กำหนดให้ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรอื่นที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นหลักประกันให้เด็กไทยทุกคนได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
แต่ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับที่กำลังจะเข้าสู่สภาฯ เห็นได้ว่าเป็นการลดคุณภาพของการจัดการศึกษา โดยมีการปรับเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครูเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพ และผู้บริหารสถานศึกษาเปลี่ยนเป็นตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษาระดับเขตไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นการลดคุณภาพของครู ลดคุณภาพของสถานศึกษา และลดคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่
ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่มีหลักประกันที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องจากเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นเพียงใบรับรองการประกอบวิชาชีพ
ขณะที่สมาพันธ์ครูเชียงราย เขต 1-4 ของ จ.เชียงราย รวมทั้งสมาคมผู้บริหารครูและสมาคมครูผู้สอนทั้ง 18 อำเภอใน จ.เชียงราย ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายระพิพงษ์ ไชยลังกา ประธานสหพันธ์ครูเชียงราย กล่าวว่า องค์กรครูขอคัดค้านและเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหลายจุด เช่น การบริหารการศึกษาต้องมีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลหรือคณะกรรมการ เพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรรมการต่างๆ กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นวิชาชีพทางการศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง เป็นต้น
หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะมีการคัดค้าน 5 ข้อ คือ 1. ติดป้ายคัดค้านหน้าสถานศึกษา สำนักงานต่างๆ 2. สวมเสื้อสีขาวทุกวันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ 3. รณรงค์คัดค้านผ่านสื่อออนไลน์ทุกประเภท 4. สนับสนุนและร่วมมือกับเครือข่าย องค์กรวิชาชีพต่างๆ และ 5. รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอคัดค้านต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป
นายวิเศษ เชยกระรินทร์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 3 กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับเดิมนั้นจะบริหารด้วยคณะกรรมการต่างๆ เช่น คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการอาชีวศึกษา ฯลฯ แต่ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ขึ้นต้นด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมทางการศึกษา
นอกจากนี้ ฐานะของครูนั้นเดิมมีการไต่เต้ากันตามลำดับด้วยวิทยฐานะต่างๆ เมื่อทำผลงานได้ก็ขึ้นตามลำดับ แต่ร่างกฎหมายใหม่นี้กลับไม่มี ซึ่งร่างกฎหมายแบบนี้เป็นผลพวงมาจากซิงเกิลคอมมานด์ไม่ได้มาจากไตรภาคีอย่างแท้จริง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก MGR Online วันที่ 16 พ.ค. 2564