โพสต์โดย : Admin เมื่อ 5 ก.ย. 2563 07:38:04 น. เข้าชม 166390 ครั้ง
บ่าย 3 โมง วันที่ 5 ก.ย.2563 ตามที่นัดหมายของกลุ่มนักเรียนเลว จะเปิดเวทีดีเบตระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับ “มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ นักเรียนชั้น ม.6
ก่อนหน้านั้น กลุ่มนักเรียนเลว และแนวร่วมองค์กรนักเรียนจาก 50 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องคือ หยุดคุกคามนักเรียน,ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษา
หากกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถดำเนินการข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อข้างต้นได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้ผู้มีความสามารถมากกว่า เข้ามาดำเนินการแทน
++
นักเรียนขบถ
++
“มิน” ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ในฐานะเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เคลื่อนไหวคัดค้านลงโทษเด็กนักเรียนด้วยวิธีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีกฎระเบียบการไว้ทรงผม มาแต่ปีที่แล้ว
ปลายปี 2556 มีกลุ่มนักเรียนมัธยม 50 คน ที่ต้องการปฏิวัติการศึกษาไทย รวมตัวจัดตั้ง “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” โดยสมาชิกกลุ่มก่อการที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ,”เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ณัฐนันท์ วรินทรเวช
พ.ศ.นี้ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยการนำของ ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ และ เบญจมาภรณ์ นิวาส ได้นำนักเรียนชั้นมัธยม จัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจ “กลุ่มนักเรียนเลว” ชูธงปฏิรูปการศึกษาไทย และเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับคณะประชาชนปลดแอก
นักเรียนเหล่านี้เป็นกลุ่มคน GEN Z เป็นกลุ่มคนรุ่นถัดจากชาวมิลเลเนียน เติบโตมาในยุคดิจิทัล จึงเกิดการปะทะทางความคิดกับคนรุ่นเก่า
เวทีดีเบต หน้ากระทรวงศึกษาฯ
++
นักเรียนรักชาติ
++
อีกฟากฝั่งของชีวิตเด็กกำพร้า “เกม” คชโยธี เฉียบแหลม ได้เลือกเส้นทางเดินของตัวเอง ด้วยการเปิดแฟนเพจข่าวดี และพัฒนามาเป็นเพจเยาวชนช่วยชาติ
“เกม” เกิดวันที่ 20 เม.ย.2548 ที่ รพ.ปทุมธานี บิดา-ชาวกรุงเทพฯ และมารดา-ชาวชัยภูมิ ได้แยกทางกัน ตั้งแต่อายุแค่ 9 เดือน เกมจึงต้องอยู่กับปู่และย่า ที่บางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ
คชโยธี นักเรียน กศน. ผู้ฝันสร้างสำนักข่าวออนไลน์
วัยเรียนชั้นประถม เกมเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดชัยฉิมพลี เพชรเกษม 48 บางแวก จนถึง ม.2 ก็ต้องลาออก มาเรียนต่อ กศน.เขตทวีวัฒนา พร้อมกับทำงานรับจ้างหาเงินเรียนหนังสือ
คชโยธี เฉียบแหลม จึงไม่ใช่ลูกพม่า ลูกโรฮิงญา ตามที่มีใส่ร้ายป้ายสีในสื่อโซเชียล
ยุคเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้ทุกคนเท่ากัน “เกม” เด็ก กศน. ก็ฝันที่จะสร้างสำนักข่าวของตัวเองบนแฟลตฟอร์มเฟซบุ๊คได้ เหมือนเด็กๆในครอบครัวชนชั้นกลาง
เกมมีความคิดการเมืองเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จากโรงเรียนและการบ่มสอนจากย่า แม่ค้าขายผักย่านบางแวก
บนเส้นทางการต่อสู้ทางการเมือง เกมยอมรับว่า อุดมการณ์ของเขา ตรงกันข้ามกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก