โพสต์โดย : Admin เมื่อ 2 พ.ย. 2566 01:29:58 น. เข้าชม 189617 ครั้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถี ได้จัดเสวนาหัวข้อ “คุกคามทางเพศ กับนักการเมือง ผู้นำ และอำนาจ” ณ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ เขตพญาไท
ในตอนหนึ่ง นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สนทนาในหัวข้อ ‘สถิติการคุกคามทางเพศกับระบบอำนาจนิยมในสังคมไทย’ โดยกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับ ในปี 2564 พบข่าวความรุนแรงทางเพศถึง 98 ข่าว แบ่งเป็นข่าวข่มขืน 38.8 % ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว 30.6 % ข่าวอนาจาร 11.2 % ข่าวการคุกคามทางเพศทางออนไลน์, พูดจาแทะโลม 11.2 % ข่าวความรุนแรงทางเพศกรณีชายกระทำต่อชาย 5.1 % ข่าวพรากผู้เยาว์ 3.1 %
สำหรับผู้กระทำคือ คนรู้จักคุ้นเคย เช่น ครู เพื่อนบ้าน อดีตแฟน เพื่อนในวงเหล้า คิดเป็น 46.4 % คนในครอบครัว เช่น พ่อเลี้ยง, พ่อกระทำลูก, ลุง 30.9 % บุคคลแปลกหน้า 20.6 % และถูกกระทำจากคนรู้จักผ่านโซเชียล 2.1 %
สำหรับผู้ถูกกระทำมีทั้งหมด 132 ราย อายุ 11-15 ปี 50.5 % อายุ 16-20 ปี 16.5 % อายุ 21-25 ปี 11.4 % อายุ 6-10 ปี 9.3 % ทั้งนี้ ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ ถูกพ่อข่มขืน อายุมากสุดคือ 83 ปี ถูกชายแปลกหน้าข่มขืน ที่สำคัญคือพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ก่อเหตุถึง 38.3 % ยาเสพติด 19.2 % อ้างความต้องการทางเพศ 10.6 % และพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 13.5 % ชลบุรีและนครราชสีมา 7.2 % เชียงใหม่ 6.2 % สมุทรปราการ 5.2 %
“จากข้อมูลที่พบจะเห็นว่าผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ยังคงเป็นเด็ก และเยาวชน และผู้กระทำยังคงเป็นคนในครอบครัว และคนรู้จักคุ้นเคย ส่วนจังหวัดที่เกิดเหตุพบว่า กรุงเทพยังเป็นจังหวัดที่เกิดเหตุเสมอมา รองลงมาคือชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ สมุทรปราการ ทั้งหมดล้วนเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีประชากรที่มีความหลากหลาย” นางสาวจรีย์กล่าว
ทั้งนี้ นางสาวจรีย์กล่าวอีกว่า ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และข้อมูลที่ร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ พบว่าผู้เสียหายถูกกระทำจากครู อาจารย์เพิ่มขึ้น รวมถึงเริ่มถูกคุกคามทางเพศจากผู้นำ นักการเมืองท้องถิ่น จึงถึงเวลาที่เราควรให้ความสำคัญกับการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของกัน และกัน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน องค์กรการเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดใช้อำนาจ และไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ
หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมแก่ผู้เสียหาย ไม่กล่าวโทษผู้เสียหาย มีระบบให้คำปรึกษาที่ชัดเจน เป็นมิตร ลดความหวาดกลัว ฟื้นฟูอารมณ์ทางจิตใจ ที่สำคัญการเมืองทุกระดับต้องมีการกำหนดจริยธรรมทางเพศให้ชัดเจน และมีระบบการตรวจสอบเข้มข้น ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ใช้อำนาจเอาเปรียบทางเพศหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อผู้อื่น เป็นต้น