โพสต์โดย : Admin เมื่อ 11 ก.ค. 2561 19:19:42 น. เข้าชม 166511 ครั้ง
เสร็จสิ้นแล้วสำหรับภารกิจช่วย 13 หมูป่า ออกจากถ้ำหลวง โดยทั้ง 13 ชีวิตออกมาอย่างปลอดภัย ท่ามกลางการระดมกำลังจากทุกภาคส่วนตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน 17 วัน จนประสบผลสำเร็จ
สำหรับความคืบหน้า เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 11 ก.ค. พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ผบ.หน่วยซีล แถลงสรุปผลการปฏิบัติงานและปิดศูนย์อำนวยการร่วมฯว่า เราไม่ใช่ฮีโร่ ทุกคนเป็นฮีโร่ ในส่วนของหน่วยซีลได้ฝึกมาลักษณะนี้เป็นประจำ โดยกองทัพเรือยึดมั่นมาตลอดว่าจะไม่ทอดทิ้งประชาชน เมื่อได้รับคำขอจากจ.เชียงรายให้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือภารกิจครั้งนี้ ได้ส่งเจ้าหหน้าที่ชุดแรกมาทันที 20 นาย และปฏิบัติงานไปถึงสามแยกของถ้ำหลวง ซึ่งเดิมหน่วยกู้ภัยไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถทะลุช่องที่ถูกทรายมาทับถมได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ทะลุไปได้แล้ว นักดำน้ำได้ดำน้ำไปถึงพัทยาบีชและพบเพียงรอยเท้าเท่านั้น จากนั้นได้ดำน้ำต่อไป แต่เจอสภาพของถ้ำที่ไม่เคยเจอและมืดมาก ทำให้ต้องถอยกลับมา บวกกับฝนตกลงมาทำให้ต้องถอยออกมาถึงโถง 3
ช่วงนั้นได้รับรายงานมาตลอดและสงสัยทำไมถึงช่วยไม่ได้ จึงตัดสินใจบินมาดูเอง โดยเข้าไปถึงโถง 3 และลุยเรื่องการสูบน้ำออก แต่สุดท้ายสู้น้ำไม่ได้ ส่วนหนึ่งจึงต้องถอยออกมา และเห็นความยากลำบาก ก่อนขอกำลังมาอีกรอบ 2 และ 3 แต่ก็สู้น้ำไม่ได้ ทำให้ถอยมาถึงปากถ้ำ ตอนนั้นความหวังเหลือนิดเดียวแล้ว เพราะระดับน้ำในถ้ำสูงมากและเป็นวันที่ 7 และ 8 ที่ติดในถ้ำ แต่เจ้าหน้าที่ไม่หมดความพยายาม โดยทุกคนทุกหน่วยช่วยกันสูบน้ำออก ซึ่งสูบอยู่ 2 วัน แต่น้ำลดวันละ 1-2 ซ.ม.เท่านั้น
ต่อมาเจ้าหน้าที่ลุยดำน้ำอีกรอบไปจนถึงโถง 3 และพบว่าโถง 3 มีพื้นที่ตั้งเป็นกองบัญชาการได้ แต่เส้นทางลำบากมา ต้องดำน้ำและปีนขึ้นโขดหิน ก่อนตัดสินใจเราจะสู้กับน้ำ โดยหาขวดอากาศจำนวนมาก ช่วงแรกได้รับบริจาคจากเอกชน 200 ขวด ต่อมาพระราชทานมา 200 ขวด บวกกับอุปกรณ์ดำน้ำที่เราสู้ได้ ก่อนตัดสินใจวางขวดอากาศบนน้ำ แต่ละคนนำขวดอากาศไป 3 ขวด และวางไปบนน้ำ ซึ่งเป็นภารกิจวันแรกที่ตั้งมั่นจะช่วยทั้ง 13 คนให้ได้
โชคดีภารกิจนี้มีนักดำน้ำจากหลายประเทศมาช่วย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในถ้ำด้วย จากนั้นมีแผนจะทำอย่างไรในการช่วย โดยมีการประเมินว่าเด็กเมื่อถึง 3 แยกน่าจะเลี้ยวซ้าย จึงวางตำแหน่งทุก 200 เมตรและเดินหน้าไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเมื่อทุกคนช่วยกัน ก่อนนักดำน้ำจากอังกฤษที่รับช่วงต่อ ไปเจอทั้ง 13 คนพบอยู่ในถ้ำ โดยนักดำน้ำอังกฤษบอกว่า เมื่อไปถึงน้องๆวิ่งมาหาเลย จากนั้นได้ส่งหน่วยซีล 4 นายเข้าไป หนึ่งในนั้นคือพ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ที่จบหน่วยซีลด้วยเข้าไป ต่อมาส่งเข้าไปเพิ่มอีก 3 นาย แต่ไม่ขอลงรายละเอียดมาก
สุดท้ายมีหน่วยซีล 4 คนอยู่กับน้องๆ ซึ่งตอนแรกประเมินอยู่ได้เป็นเดือน เพราะส่งอาหารเข้าไปได้ ก่อนหาทางเจาะโพรงเข้าไป แต่มาเจอข้อจำกัด เพราะอากาศในถ้ำน้อยลง วันแรกที่ตรวจพบออกซิเจนมีแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่หาออกซิเจนไปเติม บวกกับมีฝนตกลงมาเพิ่มและเติมน้ำเข้าถ้ำ จึงประเมินทั้งเรื่องอากาศและน้ำในถ้ำ ประกอบกับการเจาะเขาหนา 500 เมตรทำได้ยาก เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ก่อนมีแผนสรุปโดยนักดำน้ำมืออาชีพของโลก สุดท้ายนำตัวน้องๆออกมา โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วม ได้อนุมัติและปฏิบัติตามแผนจนพาทั้งหมดออกมาได้ ซึ่งภารกิจนี้ยอมรับว่ายากจริงๆ และต้องพัฒนาบุคคลากรให้มีความสามารถขึ้นไปอีก เพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วม กล่าวเสริมว่า เรื่องออกซิเจนในถ้ำเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเหลือ 12 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการช็อก เพราะคนปกติจะหายใจที่ออกซิเจน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ จึงตัดสินใจให้ปฏิบัติภารกิจนี้ ประกอบกับน้ำกำลังจะมา ซึ่งน้ำภาคเหนือมาแบบน้ำตก ทำให้เด็กอาจไม่มีที่ยืนในถ้ำ จึงเป็นตัวเร่งการทำงาน โดยเครดิตอยู่ที่นักดำน้ำต่างชาติและหน่วยซีล ซึ่งมีผู้อยู่เบื้องหลังอีกมากมาย โดนเฉพาะทีมสูบน้ำ หลายคนถามว่าสูบน้ำเท่าใดถึงจะเหมาะสม โดยซีลและนักดำน้ำขอแค่มีช่องให้ขึ้นมาหายใจได้ ก่อนซีลตัดสินใจใช้วิธีขวดอากาศไปวางตามแถวถ้ำ แต่ต้องสูบน้ำให้ได้ระดับ จนถึงวันที่ประกาศดีเดย์ที่ระดับน้ำเริ่มลดและมีที่ยืนเปลี่ยนถังอากาศได้
โดยทีมสูบน้ำสูบไปประมาณ 1 ล้านลบ.ม. แต่ละวันจะมีน้ำเข้ามาเติม 2 หมื่นลบ.ม. เราสามารถเบี่ยงน้ำได้วันละ 1 หมื่นกว่าลบ.ม. นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานเจาะพาโพรงเหนือถ้ำ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะเขาหนา 500-600 เมตร และไม่รู้พิกัด ทำให้ใช้ปฏิบัติการนี้