โพสต์โดย : Admin เมื่อ 26 ก.พ. 2560 12:30:22 น. เข้าชม 166568 ครั้ง
หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบาย“ไทยแลนด์4.0” โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ใช้นวัตกรรมทางเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง...
..ซึ่งการที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ทักษะ ความรู้ ความสามารถตรงกับนโยบายดังกล่าวได้นั้น ระบบการศึกษาไทยต้องก้าวสู่“การศึกษา4.0” เช่นเดียวกัน ว่าแต่การศึกษา4.0นั้นเป็นเช่นใด? แล้วโรงเรียน ครู ควรเป็นอยู่อย่างไรในยุค4.0?...
แวดวงการศึกษาได้มีการกล่าวถึง ยุค4.0ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร4.0,ห้องเรียน4.0, ครูไทย4.0,โรงเรียน4.0 และมหาวิทยาลัย4.0 เป็นต้น โดยจะอธิบายไปในทิศทางเดียวกันในการพัฒนา สร้างเด็กและเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีทักษะของการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้จักแยกแยะข้อมูล มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียน นักศึกษา นำองค์ความรู้ที่มีอยู่ทุกที่ มาบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของประเทศ
ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์อาวุโส วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เริ่มต้นอธิบาย การศึกษา4.0ว่าการพัฒนาการของการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตีความได้แต่เป็นการศึกษาที่แท้จริงต้องทำให้ผู้เรียนสร้างผลผลิตหรือนวัตกรรมใหม่ออกมาได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ติดตัวนักเรียน นักศึกษาไปตลอดชีวิต สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน และจะช่วยแก้ปัญหาบริโภคนิยมที่เกาะกินสังคมไทยมาอย่างยาวนาน
การศึกษา4.0เป็นความหวังของประเทศไทยที่จะก้าวให้พ้นกับดักต่างๆ ที่มีมาอย่างยาวนาน เส้นทางการศึกษา4.0เพิ่งเริ่มต้นขึ้นและหนทางยังอีกยาวไกลนัก ในฐานะนักการศึกษา ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่าการศึกษา 4.0 เกิดขึ้นได้ต้องมีการพัฒนาระบบการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียน ครู ต้องเป็นการจัดการศึกษาเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ เพื่อให้การศึกษาเป็นไปในทิศทางที่มีคุณค่าต่อตัวผู้เรียนต่อสังคมในทางสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการเรียนการสอนต้องประกอบไปด้วยแนวคิด CCPR Model เพื่อสร้างให้เด็กมีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ
1.Critical คิดวิเคราะห์ มองสังคมให้รอบด้าน รู้ที่มาที่ไป เข้าใจเหตุและผล
2.Creativeคิดสร้างสรรค์ เด็กต้องคิดต่อยอดจากที่มีอยู่ ประยุกต์และใช้ประโยชน์ มองประเด็นใหม่ๆ
3.Productiveคิดผลิตภาพ คำนึงถึงผลผลิต มีวิธีการและคุณภาพ ค่าของผลงาน และ
4.Responsibleคิดรับผิดชอบ นึกถึงสังคม ประเทศชาติ มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีคุณธรรมจริยธรรม ความดีงาม
“การศึกษา4.0โรงเรียนครู ต้องทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างผลผลิตขึ้นมาได้ ถึงแม้ผลผลิตจะไม่ใหม่เอี่ยม เป็นนวัตกรรมอย่างจริงจัง แต่เวลาที่ยาวนานผู้เรียนจะสร้างผลผลิตที่ใหม่ ทันสมัยได้เอง และเขาจะสามารถพัฒนาทักษะและวิญญาณการคิดค้นแสวงหาและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงผลงานต่างๆ ต้องเข้าใจว่าการศึกษา4.0ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต จริงอยู่ที่4.0เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต เราต้องดำเนินการ4.0ให้ดีที่สุด มีค่าที่สุดและเป็นประโยชน์แก่เรามากที่สุด และต้องมองไปถึงชีวิตหลัก4.0เช่นเดียวกัน” ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
สำหรับหลักสูตรCCPR Model ที่จะให้ผู้เรียนต้องมีอย่างน้อย4อย่าง ได้แก่
1.เรียนรู้ทั่วโลกและภูมิปัญญาหลักของไทย
2.ทางเลือกของสังคมไทยและของโลก ต้องให้ศึกษาทางเลือกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตเป็นโลกที่มีความหลากหลาย
3.กระบวนการแสวงหาความรู้ เรียนความรู้หลักของไทยแล้วต้องเรียนนวัตกรรมวิเคราะห์ใหม่ของโลก ควรเป็นหลักสูตรที่ทุกคนต้องเรียน เรียนขนาดใหญ่อย่างไรก็ต้องนำมาวิเคราะห์ และ
4.นวัตกรรมใหม่ของโลก จำเป็นต้องให้เรียนรู้กระบวนการที่จะหาความรู้ใหม่ อาจจะเรียนวิธีวิจัยก็ได้ ต้องสอนการวิจัยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา
ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า วิธีการเรียนการสอนใน แบบCCPR Modelโดยจะเป็นการใช้ผลการสอนเป็นหลักประกัน โรงเรียน ครู จะต้องจัดการเรียนรู้แบบให้เด็กคิดวิเคราะห์วิเคราะห์เป็นหลัก เน้นวิเคราะห์ปัญหารายบุคคล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้เด็กทบทวนตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง อีกทั้งต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดอะไรใหม่ ให้ฝึกการทำงานใหม่ๆ เพิ่มเติมจนแน่ใจในทักษะการคิดใหม่ได้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน มองใหม่ เสนอใหม่ ให้ทางเลือก เพิ่ม ลด ต่อยอด เสริม ลองแล้วลองอีก วางเป้าหมายที่ผลงาน แสวงหาวิธีการต่างๆ ให้ได้งาน ทดสอบ ประเมินคุณภาพปรับเปลี่ยนและช่วยสอดส่อง รวมถึงต้องดำเนินการในทุกระดับ นำตัวเองสู่สาธารณะ สังคม ผ่านการทดสอบ รูปแบบตัวอย่าง
“การจัดการศึกษาเพื่อผลผลิต ครูต้องสอนน้อย แต่ให้เด็กเรียนรู้มาก ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบไม่สอน ก็เรียนได้จริง โดยครูต้องเชื่อมั่นว่าผู้เรียนสามารถแสดงหาและสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้สอนมีบทบาทในการวางแผนการจัดการเรียน ออกแบบกิจกรรมการเรียน กระตุ้นส่งเสริมจูงใจผู้เรียนและเตรียมคำถามที่ท้าทายให้ผู้เรียนได้ค้นหาคำตอบ มีประเด็นคำถามจากประสบการณ์ในชั้นเรียน การนำเสนอผลการเรียนมาอภิปรายแลกเปลี่ยนในชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนจะมีบทบาทใหม่ คือCommentatorเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกิดผลงานที่เป็นองค์ความรู้จากกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์” ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
การศึกษาในอดีตเป็นการศึกษาบริโภคนิยมที่สอนให้ผู้คนถนัดการซื้อ กิน และใช้ ซึ่งถ้ายังเป็นอย่างนี้ การศีกษาไทยจะแย่ ดังนั้น การศึกษายุคใหม่ต้องไม่ใช่การผลิตผู้บริโภค แต่ต้องสร้างนักผลิต โดยการศึกษา 4.0 เป็นการสอนให้เด็กมีผลผลิต มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ทั้งนี้ การที่มหาวิทยาลัยประกาศเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 ไม่ใช่เพียงปรับปรุงสถานที่ให้สวยงาม แต่ต้องเป็นการผลิตนวัตกรรม สินค้าที่เป็นประโยชน์
“การจัดการศึกษาไทย 4.0 เกิดขึ้นจริง ประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากผู้บริหาร ผู้สอนต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบเอาคะแนนสูง ทำให้นักเรียนถูกจำกัดอยู่ในกรอบ ไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ ครูต้องให้เสรีภาพเด็กเลือกเรียนตามความถนัด โดยส่งเสริม เติมเต็มตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งเป็นการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคมาก รวมถึงต้องเป็นเป้าหมายการศึกษาของชาติ สร้างเด็กสร้างนวัตกรรม เลิกการบรรยาย แต่ให้เด็กได้ลงมือทำ เด็กทุกคนต้องมีผลงานและเห็นความสำเร็จอยู่ที่ผลงาน การเรียนการสอนทุกวิชาต้องเป็นแบบเดียวกัน มีการดำเนินการต่อเนื่อง และทุกคนต้องร่วมมือกันทำ” ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์กล่าวทิ้งทาย
การศึกษา4.0จะเกิดขึ้นจริงต้องเริ่มจากทุกภาคส่วนในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา ครู ต้องปรับเปลี่ยน กระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะสอดคล้องกับการก้าวสู่ยุค4.0สร้างผลผลิต นวัตกรรม สามารถติดตามการศึกษา4.0เป็นยิ่งกว่าการศึกษาได้
โดย ชุลีพร อร่ามเนตร
ขอบคุณที่มาจาก คมชัดลึก
ขอบคุณ http://www.kroobannok.com/81270